GULF คาดสรุปเงินกู้ 5 หมื่นลบ.โรงไฟฟ้า IPP 2,500 MW ใน Q3/61 ส่วนอีกโรงสรุปต้นปี 62,เดินหน้าขยายลงทุนตปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 23, 2018 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ขนาดกำลังผลิตตามสัญญา 2,500 เมกะวัตต์ (MW) ของบริษัท กัลฟ์ เอสอาร์ซี จำกัด (GSRC) ที่ตั้งอยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เตรียมที่จะเซ็นสัญญากู้เงินราว 5 หมื่นล้านบาท อายุ 23 ปี จากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศในช่วงไตรมาส 3/61 โดยจะเป็นการกู้เงินสกุลบาทและดอลลาร์ในสัดส่วน 50:50 เพื่อรองรับการลงทุนโครงการ IPP ที่จะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 64-65

ขณะที่ในช่วงต้นปี 62 บริษัทเตรียมปิดดีลเงินกู้อีกราว 5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า IPP ที่มีกำลังการผลิตตามสัญญา 2,500 MW ของบริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ที่มีกำหนด COD ในปี 66-67

"เงินกู้สำหรับโครงการ IPP 2 โรง แม้แนวโน้มดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้นเราไม่มีปัญหา เพราะขณะนี้เราได้รับข้อเสนอเงินกู้จากแบงก์แล้ว ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าที่คาดไว้เยอะเพราะการแข่งขันสูง...เราจะมีการกู้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศมีของ JBIC ,ADB และแบงก์ในประเทศ"นายสารัชถ์ กล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการ IPP ทั้ง 2 โรงดังกล่าวเป็นความร่วมทุนระหว่าง GULF และ Mitsui ภายใต้สัญญาผู้ถือหุ้นสัดส่วน 70% และ 30% ตามลำดับ โดยโครงการมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนเกิน 10%

นายสารัชถ์ กล่าวอีกว่า บริษัทเตรียมขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น หลังงบดุลบัญชีมีความแข็งแกร่ง โดยล่าสุดอยู่ระหว่างการประมูลโรงไฟฟ้าในโอมานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง คาดว่าจะรู้ผลในเดือน มิ.ย.นี้ ขณะเดียวกันก็ร่วมกับพันธมิตรศึกษาความเป็นไปได้โรงไฟฟ้าก๊าซฯในสหรัฐ ขนาดกว่า 1,000 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนราว 1-2 หมื่นล้านบาทด้วย

ส่วนการลงทุนร่วมกับพันธมิตรในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ประเภทโซลาร์ฟาร์ม ขนาด 48 เมกะวัตต์ ในเวียดนามนั้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนการลงทุนเกิน 10% และมีโอกาสที่จะขยายเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต หากพันธมิตรได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มเติม

นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสนใจลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศเช่นกัน แต่การพิจารณาจะเน้นเรื่องผลตอบแทนให้คุ้มค่ากับการลงทุนเป็นหลัก แต่ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนของโครงการพลังงานหมุนเวียนมีเพียงตัวเลขหลักเดียวซึ่งไม่คุ้มกับการลงทุน

"ตอนนี้เราพร้อมแล้ว balance sheet เราเข้มแข็งขึ้นแข่งขันกับคนอื่นได้ มีคนเข้ามานำเสนอโครงการทั้งในฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมา ลาว แต่พวกนี้ต้องใช้เวลา ตัดสินใจเลือกโครงการดี ๆ เราเชื่อว่าโครงการโรงไฟฟ้าไม่มีวันหมดจะเข้ามาเรื่อย ๆ แม้วันนี้ยังไม่ได้ลงทุน วันหน้าก็จะได้ลงทุน"นายสารัชถ์ กล่าว

นายสารัชถ์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังให้ความสนใจที่จะเป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อรองรับการใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าและใช้ในภาคอุตสาหกรรม แม้ปัจจุบันบริษัทจะไม่ได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่ง LNG (shipper) จากคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็ตาม โดยบริษัทอยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์ต่อ กกพ.ถึงสาเหตุที่ไม่ผ่านการพิจารณาเรื่องดังกล่าว หลังจากได้ยื่นเรื่องไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยมีเพียงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบมจ.ปตท. (PTT) ที่ได้รับสิทธิการนำเข้า LNG

ทั้งนี้ บริษัทมีความตั้งใจที่จะนำเข้า LNG เพื่อมาใช้ในโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ของบริษัทที่มีทั้งหมด 12 โรงและยังมีช่องว่างให้สามารถทำสัญญาซื้อก๊าซฯเพิ่มเติมอีก จากปัจจุบันที่โรงไฟฟ้า SPP ดังกล่าวมีสัญญาซื้อก๊าซฯกับ PTT ราว 80% เท่านั้น ส่วนสัญญาซื้อขายก๊าซฯสำหรับโครงการ IPP ใหม่รวม 5,000 เมกะวัตต์นั้น บริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯจาก ปตท.แล้ว ก็จะยังคงสัญญาดังกล่าวอยู่ โดยไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

นอกจากการนำ LNG มาใช้ในโรงไฟฟ้าของตัวเองแล้ว บริษัทยังจะนำ LNG จำหน่ายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันบริษัทได้ร่วมกับกลุ่มบมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) และพันธมิตร เพื่อทำธุรกิจจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 และนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 4

ปัจจุบัน GULF มีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมลงทุนในมือ 6,329 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว 2,120 เมกะวัตต์ ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีโรงไฟฟ้า COD อีก 2 โรง และปี 62 จะมีโรงไฟฟ้า COD อีก 4 โรง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ