TISCO ยันขายพอร์ตสินเชื่อบางส่วนให้"ซิตี้แบงก์"ไม่ขาดทุน,แนวโน้มสินเชื่อ-NPL ดีขึ้น ยังไม่มีแนวคิดควบรวม

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 24, 2018 11:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) เปิดเผยว่า การขายพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตที่ธนาคารได้ซื้อมาจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ให้กับซิตี้แบงก์ ยืนยันว่าไม่มีผลขาดทุนจากการขายอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ กระบวนการการโอนพอร์ตสินเชื่อจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ในช่วงไตรมาส 2/61 โอนพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคล มูลค่า 3.5 พันล้านบาท และในช่วงไตรมาส 4/61 จะโอนพอร์ตบัตรเครดิต มูลค่า 2.6 พันล้านบาท ให้กับซิตี้แบงก์ โดยจะทยอยบันทึกรายได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/61 เป็นต้นไป และอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะนำมาใช้ในการตั้งสำรองฯหรือการนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจของธนาคารต่อไป

นายสุทัศน์ กล่าวว่า การขายพอร์ตดังกล่าวออกไปไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารอย่างแน่นอน เพราะพอร์ตดังกล่าวมีสัดส่วนคิดเป็น 2% ของพอร์ตสินเชื่อรวมที่มีอยู่ 2.3-2.4 แสนล้านบาท ถือเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อย และไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของผลการดำเนินงานของธนาคารในปีนี้ ซึ่งธนาคารพยายามรักษากำไรให้ใกล้เคียงหรือมากกว่าปีก่อน

ภาพรวมสินเชื่อของธนาคารในไตรมาส 2/61 มองว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากไตรมาส 1/61 ที่หดตัว 1.9% เนื่องจากมีสัญญาณบวกที่ดีจากสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ที่ปรับตัวสูงขึ้นและมีการจัดงานมอเตอร์โชว์เข้ามาสนับสนุน ทำให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์กลับมาในระดับที่ดี รวมทั้งสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการสินเชื่อเพื่อนำไปใช้ในการลงทุนต่าง ๆ ที่มีอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่สินเชื่อบ้านนั้น ธนาคารไม่เน้นการรุกขยายมากนัก แต่จะเป็นการเลือกเข้าไปในบางกลุ่มลูกค้า และสินเชื่อเอสเอ็มอียังคงมีการชะลอตัวอยู่บ้าน แม้ว่าภาคธุรกิจเอสเอ็มอีจะเริ่มฟื้นกลับมา โดยที่ภาพรวมการขยายตัวของสินเชื่อในปีนี้ธนาคารยังคงเป้าเดิมที่โต 0-5% แต่อาจจะมีการทบทวนในช่วงกลางปีนี้อีกครั้ง

ด้านผลกระทบจากรายได้ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลที่ยกเว้นให้กับลูกค้า ธนาคารยอมรับว่าแทบไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะธนาคารมีรายได้ค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลน้อยมาก โดยรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารส่วนใหญ่มาจากการเป็นนายหน้าขายประกันผ่านช่องทางสาขา การขายกองทุนรวม ซึ่งยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารไม่ได้รับแรงกดดันของค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลที่หายไป

ขณะที่แนวโน้มการตั้งสำรองยังคงมีการตั้งสำรองฯตามความเหมาะสมของหนี้เสียในแต่ละช่วง และเป็นการทยอยตั้งสำรองฯตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนม.ค.62 ซึ่งธนาคารได้มีการทยอยตั้งสำรองฯตามมาตรฐานบัญชีใหม่มาตั้งแต่ปี 60 แล้ว และปัจจุบันธนาคารมีอัตราการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (Coverage ratio) สูงที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับมากกว่า 200% ในไตรมาส 1/61 เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนที่กว่า 190% ซึ่งถือว่ามีความแข็งแกร่ง ส่วนแนวโน้มสัดส่วนหนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ของธนาคารในปีนี้มองว่าจะมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 1/61 ที่ลดลงมาอยู่ที่ 2.32% ซึ่งมองแนวโน้มของ NPL จะทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

ด้านความคืบหน้าของหนี้ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) ที่ TISCO เป็นหนึ่งในกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้ ปัจจุบันหลังจาก SSI เข้าแผนฟื้นฟูแล้ว สถานการณ์ของบริษัทได้ดีขึ้น และเริ่มทยอยนำเงินมาคืนหนี้ได้ตั้งแต่ปีก่อน โดยในแผนฟื้นฟูระยะเวลา 12 ปี ธนาคารซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้ที่ให้วงเงินกู้แก่ SSI ไปราว 3 พันล้านบาท คาดว่าจะได้รับชำระคืนราว 1.5 พันล้านบาท และที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจะแปลงเป็นทุนที่ธนาคารได้เข้าไปถือหุ้นใน SSI แล้ว ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการของแผนฟื้นฟู

นอกจากนี้ธนาคารได้ขออนุมัติวงเงินออกหุ้นกู้ในวงเงินไม่เกิน 1.2 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวานนี้ (23 เม.ย.61) เพื่อเตรียมความพร้อมนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจและเพื่อรองรับหุ้นกู้ที่ครบกำหนดอายุ ซึ่งจะมีหุ้นกู้บางส่วนที่ครบกำหนดอายุในปีนี้ โดยหุ้นกู้ที่ธนาคารได้เคยออกไปแล้วส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 1-1.5 ปี โดยการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ธนาคารจะต้องพิจารณาถึงอัตราดอกเบี้ยและอายุของหุ้นกู้ตามความเหมาะสม

สำหรับมุมมองของธนาคารหลังจากที่ภาครัฐออกมาตรการยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมการควบรวมกิจการธนาคารพาณิชย์ ธนาคารมองว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้ธนาคารพาณิชย์มาควบรวมกันเพื่อความแข็งแกร่ง ซึ่งภาครัฐมองในระยะยาว แต่ขณะนี้ธนาคารของไทย โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่มีความแข็งแกร่งมากอยู่แล้ว เช่น ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่มีสินทรัพย์สูงถึงระดับ 3 ล้านล้านบาท มากกว่า TISCO ถึง 10 เท่า อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำธนาคารอื่นมาควบรวม แต่อาจจะเป็นในลักษณะของการเสนอขายพอร์ตต่าง ๆ ออกมา ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้มากกว่า

โดยในส่วนของ TISCO ในปัจจุบันมีธุรกิจที่ครอบคลุมอยู่แล้ว และยังไม่มีแผนที่จะซื้อพอร์ตเพิ่มเติมหรือจะเข้าไปควบรวมกับธนคารอื่นๆ แต่ก็ไม่ปิดโอกาสหากมีข้อเสนอที่น่าสนใจเข้ามาและเกิดประโยชน์ต่อธนาคาร แต่ธนาคารเองจะต้องหาจุดเด่นที่เป็นของตัวเอง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและทำให้การบริการพึงพอใจและประทับใจลูกค้ามากที่สุด ไม่ใช่เข้าไปแข่งขันในทุกด้านกับธนาคารอื่นๆในระบบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ