EA โต้ข่าวลือไม่หยุด"สมโภชน์"ขายหุ้น-ย้ำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่มีสิ้นสุดแม้ Adder หมดอายุ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 25, 2018 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ชี้แจงกระแสข่าวการขายหุ้นของผู้บริหาร EA ที่ยังมีออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่านายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการบริหารจะออกมายืนยันหลายครั้งแล้ว โดยนายอมร กล่าวว่า หากนายสมโภชน์ขายหุ้นก็จะต้องรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แม้ว่าจะเป็นการซื้อขายในส่วนของหุ้นที่โอนไปอยู่ภายใต้กองทรัสต์ที่มียูบีเอสเป็นคัสโตเดียนดูแลอยู่ก็ตาม

"คุณสมโภชน์ มีหุ้นอยู่ส่วนหนึ่งที่โอนไปอยู่ที่เมืองนอก อันนี้ไม่ได้ขาย หรืออธิบายให้นักลงทุนมั่นใจได้ในอนาคต คือหุ้นทั้งหมดที่โอนไปมีอยู่ในทรัสต์หนึ่ง ตอนจะโอนเราแจ้งเจตจำนงไปที่ ก.ล.ต.โดยตรง ชี้แจงชัดเจนเจ้าของทรัสต์เป็นใคร ซึ่งก็คือคุณสมโภชน์ ก็มีข้อผูกพันอยู่ว่า ทรัสต์นี้ถ้าในอนาคตไปซื้อ-ขายหุ้นก็จะต้องรายงานเหมือนกับตัวคุณสมโภชน์ซื้อขายเอง ที่โดยปกติผู้บริหารมีหน้าที่รายงาน ตามแบบฟอร์มที่แจ้งไปยัง ก.ล.ต.ว่ามีการซื้อขายหุ้นหรือไม่ในวันนั้น"

สำหรับการซื้อหุ้นของทรัสต์นั้น ก็จะต้องรายงานต่อ ก.ล.ต.ตามปกติ โดยทรัสต์ที่ผู้ถือหุ้นหลายคนโอนหุ้น EA ให้ดูแลได้ว่าจ้างให้ ยูบีเอส เป็นคัสโตเดียน ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับจำนวนหุ้นก็จะต้องรายงาน ก.ล.ต.เช่นกัน

"เวลาปิดสมุดทะเบียน ทุกคนก็จะรวมอยู่ภายใต้ชื่อยูบีเอสหมด ถ้าดูแต่ละครั้งที่ผ่านมาหุ้นที่อยู่ภายใต้ชื่อยูบีเอสอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะถ้ายูบีเอสรับเป็นนายทะเบียนให้ 100 คน อาจจะมีอยู่ในนั้น 1 , 2 คน หรือ 3 คน มีการซื้อขายหุ้นของเขา หุ้นรวมที่อยู่ภายใต้ชื่อยูบีเอส ก็เปลี่ยนเพิ่มขึ้น หรือลดลง ตามการซื้อขายของคนที่ไปจ้างยูบีเอสทำหน้าที่เป็นคัสโตเดียนให้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณสมโภชน์ขาย เราแสดงความชัดเจนถ้ามีการซื้อขาย เป็นหน้าที่คุณสมโภชน์ต้องรายงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น"นายอมร กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์เช้านี้

อนึ่ง ตามข้อมูลผู้ถือหุ้นของตลาดหลักทรัพย์ฯ ณ วันที่ 20 มี.ค.61 พบว่า EA มี UBS AG SINGAPORE BRANCH ถือหุ้นอันดับ 1 ระดับ 29.52% , นายสมโภชน์ อาหุนัย ถือหุ้น 23.44% , นางมุกดา บุญเสี่ยง ถือหุ้น 4.52% เป็นต้น

นายอมร กล่าวอีกว่า สำหรับความกังวลต่อการหมดอายุของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าของบริษัทนั้น ยืนยันว่าปัจจุบันบริษัทมีโครงการผลิตไฟฟ้าประเภทโซลาร์ฟาร์มและกังหันลม สามารถต่ออายุการซื้อขายไฟฟ้าได้ครั้งละ 5 ปีต่อเนื่องไป โดยมีค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (Adder) ในอัตราที่ไม่เท่ากันของแต่ละโครงการ เป็นไปตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในช่วงเวลานั้น ซึ่งจะต่างจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในระยะหลังที่ใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT และมีอายุสัญญารับซื้อระหว่าง 20-25 ปี

"สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ได้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นโครงการโซลาร์หรือลม ของ EA เป็นแบบมี Adder ซึ่ง Adder มีเวลา 10 ปีนับจาก COD ซึ่งคนจะสับสนระหว่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ Adder ตัวใหญ่ก็คือสัญญาซื้อขายไฟฟ้า สัญญาตรงนั้นไม่ได้มีการกำหนดอายุสัญญา จะเป็นครั้งละ 5 ปี แล้วต่อครั้งละ 5 ปี 5 ปี หรือต่อให้ฟาร์มหมดอายุ ผมจะไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบก็ขายไฟต่อไปเรื่อย ๆ"

นายอมร กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีโครงการโซลาร์ฟาร์มใน 4 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี ขนาด 8 เมกะวัตต์ เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เมื่อปี 55 โดยมี Adder อัตรา 8 บาท/หน่วย ซึ่ง Adder จะหมดอายุในปี 65 ขณะที่โครงการนี้ได้รับการต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามาแล้ว 1 ครั้ง , นครสวรรค์ ขนาด 90 เมกะวัตต์ เริ่ม COD ปลายปี 56 มี Adder อัตรา 6.50 บาท/หน่วย จะหมดอายุปลายปี 66 , ลำปาง ขนาด 90 เมกะวัตต์ เริ่ม COD เมื่อเดือนก.พ.58 มี Adder อัตรา 6.50 บาท/หน่วย จะหมดอายุในปี 68 และพิษณุโลก ขนาด 90 เมกะวัตต์ เริ่ม COD ในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.59 มี Adder อัตรา 6.50 บาท/หน่วย จะหมดอายุในปี 69

โดยหลัง Adder หมดอายุแล้ว บริษัทก็ยังสามารถซื้อขายไฟฟ้าได้ตามอัตราการซื้อขายไฟฟ้าปกติ และยืนยันได้ว่าบริษัทสามารถทำโครงการได้คุ้มทุนก่อนที่ Adder หมดอายุ และสามารถชำระหนี้ได้หมดก่อน

สำหรับโครงการพลังงานลม หาดกังหัน และหนุมาน นั้นก็ได้รับ Adder ในอัตรา 3.50 บาท/หน่วย เป็นเวลา 10 ปีนับจากเริ่ม COD โดยเมื่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าครบ 5 ปีก็จะได้รับการต่ออายุครั้งละ 5 ปีต่อเนื่องเช่นกัน

ส่วนความคืบหน้าในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ในจ.ฉะเชิงเทรา ที่ปัจจุบันมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สีเขียวนั้น ปัจจุบันบริษัทได้ยื่นเรื่องเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของทางราชการเพื่อขอเปลี่ยนสีของพื้นที่ดังกล่าว และได้ยื่นเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วย เพื่อขอดำเนินการเป็นเขตอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก็เคยมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ต่าง ๆ ได้เพียงแต่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอน ส่วนจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อใดนั้นต้องรอดูกฎระเบียบและการได้รับอนุญาตเบื้องต้นก่อน

ด้านเม็ดเงินลงทุนที่จะใช้ดำเนินการเพื่อรองรับการก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดกำลังการผลิต 50 กิกะวัตต์-ชั่วโมง (GWh) และการลงทุนอื่น ๆ ในอนาคตนั้น ที่ตลาดมีความกังวลว่าจะใช้เงินลงทุนสูงเกือบแสนล้านบาทนั้น บริษัทมีการติดตามแผนงานอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินจากกระแสเงินสดที่จะเข้ามาในแต่ละปีหลังจากโครงการโรงไฟฟ้าได้เริ่มทยอยเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว และเงินสดที่จะทยอยนำออกไปลงทุน ซึ่งในบางปีอาจจะไม่สมดุลกันก็อาจจะต้องหาเงินกู้เข้ามาช่วยเสริม ซึ่งบริษัทมีศักยภาพเพราะภาระหนี้สินต่อทุน (D/E) ก็ลดลงต่อเนื่อง จากเดิมที่อยู่ในระดับใกล้ 3 เท่า ก็ลดลงมาเหลือ 2 เท่าเล็กน้อย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ