KTB ยันไม่มีแผนควบรวมแบงก์อื่น พร้อมคงเป้าสินเชื่อปีนี้โต 6-7% แม้ Q1/61 หดตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 25, 2018 13:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า ธนาคารยังไม่มีแนวคิดที่จะควบรวมกิจการกับธนาคารพาณิชย์อื่น หลังจากมีกระแสข่าวการควบรวมระหว่าง KTB และธนาคารทหารไทย (TMB) โดยนายผยง ระบุว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่และคณะกรรมการบริษัทยังไม่มีนโยบายหรือกล่าวถึงเรื่องนี้

ทั้งนี้ KTB มีผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 คือ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 55.07%

นายผยง ยอมรับว่าการควบรวมกิจการจะทำให้ขนาดของธนาคารใหญ่ขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีทำให้ฐานลูกค้าโตขึ้นตามไปด้วย และจะทำให้เกิดการบริการลูกค้าในหลากหลายมิติ ซึ่งท้ายที่สุดลูกค้าจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงบริการและผลิตภัณฑ์ต่างๆให้ตรงกับความต้องการ เพราะปัจจุบันธนาคารใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแทนสาขาของธนาคารมีแนวโน้มลดลง

แต่อย่างไรก็๖าม สถาบันการเงินแต่ละแห่งก็ต้องดูความเหมาะสม ความพร้อม และความจำเป็นของแต่ละธนาคาร เพราะแต่ละธนาคารมีจุดแข็งและมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน

สำหรับ KTB ในปีนี้ยังคงเป้าหมายสินเชื่อรวมปีนี้เติบโต 6-7% แม้ไตรมาส 1/61 สินเชื่อรวมจะหดตัวลงค่อนข้างมาก จากผลกระทบสินเชื่อของลูกค้าสหกรณ์ที่มีพอร์ตสินเชื่อลดลงมาอยู่ที่ไม่ถึง 8 หมื่นล้านบาท จากเดิม 1.2 แสนล้านบาท เนื่องจากลูกค้ากลุ่มดังกล่าวรีไฟแนนซ์ไปใช้บริการของธนาคารอื่น ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ ในไตรมาสแรก ธนาคารได้มีการปรับพอร์ตสินเชื่อเพื่อกระจายความเสี่ยง ทั้งจากการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงแต่ให้ผลตอบแทนในระดับสูง และสินเชื่อที่ความเสี่ยงสูงแต่มีผลตอบแทนต่ำ ซึ่งธนาคารก็ต้องกระจายสินเชื่อในส่วนนี้เพื่อให้ความเสี่ยงกับผลตอบแทนอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับพอร์ต จึงส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในช่วงที่ผ่านมา

ด้านสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดกลาง หรือ ไซส์ M มีการเติบโตดี แต่ยังมีปัจจัยที่ท้าทายเกี่ยวกับการหาสินเชื่อใหม่ในกลุ่มลูกค้าดังกล่าวเข้ามาเพิ่ม ถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะในอุตสาหกรรมมีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะการแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ย ส่งผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกบี้ย (NIM) ที่มีโอกาสลดลงได้

ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในช่วงไตรมาส 1/61 ยังพบว่ามีปัญหาในกลุ่มลูกค้าเก่า เช่น กลุ่มโรงสีข้าว และกลุ่มที่เคยมีปัญหามาก่อนหน้านี้ โดยธนาคารแบ่งการดูแลเป็น 3 ขั้นตอนตามสี คือ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง โดยที่สีแดงเป็นกลุ่มลุกค้าที่ธนาคารต้องเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด ซึ่งในกลุ่มลูกค้าบางกลุ่มก็มีความยากลำบากในการฟื้นตัวกลับมา ทำให้ต้องจัดชั้นเป็น NPL เช่น กลุ่มลูกค้าสินค้าเกษตรประเภทมันสำปะหลัง ที่ถูกจัดเป็น NPL มากขึ้น ซึ่งธนาคารกำลังเร่งแก้ปัญหานี้อยู่

นายผยง กล่าวว่า ธนาคารยังมีกลุ่มลูกค้าที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ตลอดเวลา ซึ่งไม่เข้าไปดูแลตลอดเวลาก็จะเกิดปัญหาหนี้เสียขึ้น โดยธนาคารมีสัดส่วนของกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก และหากกลับไปดูพฤติกรรมของสินเชื่อจะมี NPL ที่แตกต่างกัน

สำหรับสถานการณ์ NPL ของธนาคารในไตรมาส 2/61 ยังไม่สามารถประเมินได้แน่ชัดว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร หรือจะดีขึ้นหรือไม่ กลุ่มลูกค้าที่อยู่ในสีแดงจะทยอยลดลงไปมากน้อยแค่ไหน แต่ที่ผ่านมายอมรับว่าธนาคารมี NPL ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการตั้งสำรองฯของธนาคารยังตั้งเป้ารักษาอัตราส่วนสำรองฯต่อหนี้สงสัยจะสูญ (Coverage ratio) ไม่ต่ำกว่า 110% โดยปัจจุบันอยู่ที่ 120% ซึ่งธนาคารยังคงรักษาเงินกองทุนให้อยู่ในระดับเหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ