CIMBT ตั้งเป้า AUM ธุรกิจ Private banking ปี 63 แตะ 4 หมื่นลบ. จาก 2 หมื่นลบ.ปีนี้เป็นปีแรก

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 8, 2018 09:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจิตติวัฒน์ กันธมาลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนบดีธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ของธุรกิจไพรเวท แบงก์กิ้ง ภายในปี 63 เพิ่มเป็นมากกว่า 4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 10-20% ของ AUM ทั้งหมดของซีไอเอ็มบี กรุ๊ป ที่มีอยู่ทั้งหมด 4.2 แสนล้านบาท

ในปีนี้ธุรกิจไพรเวท แบงก์กิ้ง จะบริหาร AUM ของลูกค้าอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการเริ่มต้นธุรกิจไพรเวท แบงก์กิ้ง เป็นปีแรก โดยปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ การสร้างทีม เป็นต้น ซึ่งสามารถดำเนินงานได้แล้ว 90% คาดว่าปลายปีนี้จะสามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างเต็มรูปแบบ

โดยที่ธุรกิจไพรเวท แบงก์กิ้ง ของธนาคารจะสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกๆปี ซึ่งธนาคารตั้งเป้าภายในปี 63 จะมีส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจไพรเวท แบงก์กิ้ง ในประเทศไทยเพิ่มเป็น 1-2% ซึ่งธนาคารมีคาดหวังที่จะก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในตัวเลือกลำดับต้นๆในการให้บริการไพรเวท แบงก์กิ้ง ที่ลูกค้านึกถึง (Top private banking of choice) ซึ่งมองโอกาสขยายฐานลูกค้าในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะในประเทศไทยมีประชาชนที่มีมูลค่าสินทรัพย์ตั้งแต่ 30 ล้านบาท/ราย ซึ่งเป็นฐานขั้นต่ำของธุรกิจไพรเวท แบงก์กิ้ง ของธนาคารอยู่ทั้งหมด 120,000 ราย โดยมีมูลค่าสินทรัพย์รวมกว่า 19 ล้านล้านบาท พร้อมกับเครือข่ายของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ที่ครอบคลุมในอาเซียน และทีมที่ปรึกษาที่มีศักยภาพ จะเสริมให้เป็นที่สนใจของลูกค้า ทั้งนี้ธนาคารคาดว่าธุรกิจไพรเวท แบงก์กิ้ง จะสร้างรายได้ให้แก่ธนาคารได้มากกว่า 1 พันล้านบาท ภายในปี 63

ขณะเดียวกันธนาคารยังมุ่งมั่นสร้างผลตอบแทนให้เพิ่มขึ้นกับลูกค้าเป็น 6-7% จากปกติ 3-4% หรือหากลูกค้าที่ยอมรับความเสี่ยงได้สูงจะให้ผลตอบแทนที่ 12% โดยที่ธนาคารมีผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย พร้อมกับเตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติมในปี 62 เพื่อทำให้มีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายนำเสนอกับลูกค้า

นายธนากร มนูญพล ผู้บริหารที่ปรึกษาการลงทุนและผลิตภัณฑ์ธนบดีธนกิจ CIMBT กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนในปีนี้มองว่ามีความท้าทายจากความผันผวนที่เกิดขึ้น จากปัจจัยอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานที่เกิดขึ้น โดยจะเห็นว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนต่างๆยังมีการเติบโต ซึ่งมาจากปัจจัยพื้นฐาน โดยที่การลงทุนที่ธนาคารมองว่ายังมีความน่าสนใจและให้น้ำหนักการลงทุนมากที่สุด คือ การลงทุนในตลาดหุ้น โดยให้สัดส่วนการลงทุนที่ 60-70% ซึ่งตลาดหุ้นในต่างประเทศที่น่าสนใจยังอยู่ไนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ยังมีโอกาสในการลงทุนได้และให้ผลตอบแทนในระดับที่ดี ส่วนสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์อื่นๆที่เหลือ แบ่งเป็น การถือเงินสด 5-10% และการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆอีก 20%

อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา การลงทุนในตลาดหุ้นนักลงทุนต้องคำนึงถึงการปิดความเสี่ยงบางส่วน โดยมองว่าจะเป็นการลงทฺนในหุ้นปันผล เป็นแนวทางการลงทุนที่ดีในการปิดความเสี่ยงของการลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ