TBANK มั่นใจสินเชื่อที่อยู่อาศัยปีนี้โตตามเป้า 20% หลัง Q1 ทำได้แล้ว 19% รุกกลุ่มรีไฟแนนซ์ ,ลูกค้ากลาง-บน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 9, 2018 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพจน์ สุขขะเสริมสุข ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อเคหะ ธนาคารธนชาต (TBANK) ในกลุ่มบมจ.ทุนธนชาต (TCAP) เปิดเผยว่า ธนาคารมั่นใจว่าการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ในปี 61 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 2.4 พันล้านบาท หรือเติบโต 20% จากปีก่อนที่ปล่อยสินเชื่อที่อยู่ที่เป็นสินเชื่อใหม่ปล่อยไป 2 พันล้านบาท โดยในไตรมาส 1/61 ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อใหม่มีการเติบโต 19% หรือปล่อยใหม่ไป 5.3 พันล้านบาท

ขณะที่ในเดือนเม.ย. 61 ธนาคารปล่อยสินเชื่อใหม่ได้อีก 1.7-1.8 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากลูกค้ากลุ่มรีไฟแนนซ์ซึ่งมีมากขึ้น ที่เป็นไปตามภาพการแข่งขันของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีการออกแคมเปญอัตราดอกเบี้ยสินพิเศษมาดึงดูดลูกค้า ซึ่งธนาคารได้ออกแคมเปญอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์เพื่อแข่งขันกับธนาคารอื่นๆด้วย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ 3 ปีแรก ของธนาคารอยู่ที่ 3.29% ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ต่ำติดอันดับ 1 ใน 5 อย่างไรก็ตามธนาคารจะปล่อยสินเชื่อรีไฟแนนซ์ให้อยู่ในสัดส่วน 10% ของเป้าหมายสินเชื่อปล่อยใหม่ในปีนี้

"ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าหลายแบงก์หันมาเล่นกลุ่มรีไฟแนนซ์เยอะมาก และกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำ ซึ่งมองว่าช่วงนี้การปล่อยกู้ให้กับลูกค้าใหม่ยากขึ้น เพราะเครดิตของลูกค้าเริ่มเต็มกัน ทำให้หลายแบงก์หันมาโฟกัสในกลุ่มลูกค้าที่กู้บ้านเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีประวัติอยู่แล้ว ทำให้ทุกคนมองว่าเป็นโอกาสในการเติบโตและขยายพอร์ต และทำให้มาเล่นดอกเบี้ยกันเยอะ ซึ่งธนชาตในช่วงไตรมาสแรกก็ได้กลุ่มลูกค้ารีไฟแนนซ์เข้ามามาก ซึ่งใน 4 เดือนที่ผ่านมาก็ปล่อยสินเชื่อใหม่ไปแล้ว 7 พันล้านบาท พร้อมกับการออกแคมเปญของธนชาตที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งทำเป็นดอกเบี้ยพิเศษสินเชื่อรีไฟแนนซ์และสินเชื่อธนชาตบ้านแลกเงินดอกเบี้ย 0% นาน 3 เดือน"นายสุพจน์ กล่าว

นายสุพจน์ กล่าวว่า ขณะที่การขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ของธนาคารธนชาตจะจะหันมาขยายฐานกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน เพิ่มขึ้น โดยจะอยู่ในกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับราคา 3-10 ล้านบาท โดยเจาะกลุ่มคนในช่วงอายุ 30-50 ปี ที่มีกำลังซื้อเข้มแข็ง มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาท/เดือน ซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตสินเชื่อบ้านให้มีหลากหลาย อีกทั้งเริ่มขยายฐานลูกค้าไปสู่ตลาดในต่างจังหวัด ซึ่งอยู่ในหัวเมืองใหญ่เพิ่มขึ้น โดยที่สัดส่วนลูกค้าของธนาคารยังอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล 70% และต่างจังหวัด 30% โดยในปี 62 ธนาคารมีความต้องการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เป็นสินเชื่อใหม่เพิ่มเป็น 3 หมื่นล้านบาท

ด้านพอร์ตสินเชื่อคงค้างของสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารในปี 61 ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1.1 แสนล้านบาท จากปลายปีก่อนที่ 1.02 แสนล้านบาท โดยปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อคงค้างของสินเชื่อบ้านอยู่ที่ 1.03 แสนล้านบาท โดยที่สัดส่วนพอร์ตของธนาคารเป็นคอนโดมิเนียม 35% บ้านเดี่ยว 35% และที่เหลือเป็นทาวน์เฮาส์และอื่นๆ ซึ่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารมีสัดส่วน 15% ของพอร์ตสินเชื่อรวมทั้งหมดของธนาคาร

ส่วนของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาส 1/61 เพิ่มขึ้นมากอยู่ที่ 3.8-3.9% จากสิ้นปี 60 ที่ 3.4% โดย NPL ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ได้รับผลกระทบ ซึ่งธนาคารได้มีการควบคุมการพิจารณาสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าดังกล่าว โดยธนาคารมีเป้าหมายการควบคุม NPL กลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้ไม่เกิน 4% โดยส่วนหนึ่งคาดว่าในช่วงกลางปีนี้จะมีการขาย NPL สินเชื่อที่อยู่อาศัยออกไปบางส่วน

ด้านภาพรวมของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยมองว่ายังคงเติบโตทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยมีปัจจัยจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการได้มีการปรับผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับกลุ่มกำลังซื้อที่มีความสามารถผ่อนชำระได้จริงในระดับราคาปานกลางค่อนข้างสูง และเปิดขายโครงการในทำเลที่มีศักยภาพมากขึ้น โดยคาดว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบในปี 61 จะเติบโต 3-5% ในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ