ก.ล.ต.เปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.ก.ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล วางแนวทางกำกับเสนอขาย ICO

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 17, 2018 11:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ก.ล.ต. เปิดเผยว่า การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล และธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล จะดำเนินการตั้งแต่วันที่ 16-30 พ.ค.61 หลังจากรัฐบาลออก พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทร้พย์ดิจิทัล ซึ่งได้กำหนดนิยามของสินทรัพย์ดิจิทัล ประกอบด้วย คริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล ซึ่งจะรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่ คณะกรรมการ ก.ล.ต.กำหนดด้วย

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวมอบอำนาจหน้าที่ให้สำนักงาน ก.ล.ต.เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน ตลอดจนธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นผู้กำหนดคุณสมบัติผู้ประกอบธุรกิจ เกณฑ์การอนุญาตให้ระดมทุน และคุณสมบัติผู้ที่จะสามารถลงทุนในโทเคนดิจิทัลได้

นอกจากนี้ ยังมีอำนาจเป็นหน่วยงานหลักกำหนดมาตรฐานการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ (1) ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (2) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (3) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล และ (4) กิจการอื่นที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.

โดยจะต้องมีฐานะทางการเงินตามที่กำหนด มีโครงสร้างและการบริหารงานที่ชัดเจน มีระบบงานที่มีประสิทธิภาพ มีบุคลากรที่เพียงพอและมีคุณภาพ มีการรู้จักตัวตนของลูกค้า (Know Your Customer – KYC) และการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงของลูกค้า (Customer Due Diligence – CDD) ตามมาตรฐานกฎหมายป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน และให้บริการทำธุรกรรมแก่ผู้มาติดต่อที่สามารถระบุตัวตนได้เท่านั้น

ขณะที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.สามารถออกประกาศยกเว้น (exempt) โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (utility token) ที่ไม่มีลักษณะของการระดมทุน ซึ่งผู้ออกพร้อมที่จะให้มีการใช้สิทธิตามโทเคนดิจิทัลดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่เสนอขายครั้งแรก และประกาศยกเว้นใบอนุญาตการให้บริการเป็นตัวกลางในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทต่อไปนี้ (ก) stable coin / reference coin ที่มีมูลค่าคงที่เทียบกับเงินบาท และ (ข) การแลกเปลี่ยนระหว่าง utility token ด้วยกัน ที่ให้สิทธิประโยชน์เฉพาะในลักษณะเดียวกัน ซึ่งพร้อมให้ใช้สิทธิได้ทันที

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันในไทยเริ่มมีผู้ออกคริปโทเคอร์เรนซีผ่านการระดมทุนด้วย Initial Coin Offering (ICO) ซึ่งอาจมีประเด็นการคุ้มครองผู้ลงทุนจากการเปิดเผยข้อมูลหรือการโฆษณาที่ไม่เหมาะสม คณะกรรมการ ก.ล.ต.จึงจะพิจารณากำหนดให้คริปโทเคอร์เรนซีที่มีลักษณะเป็นการระดมทุนเป็นโทเคนดิจิทัลประเภทหนึ่ง ซึ่งผู้ออกจะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การเสนอขายต่อประชาชนด้วย

ทั้งนี้ ร่างประกาศที่ ก.ล.ต.นำเสนอนั้น กำหนดแนวทางการกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO) ต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. และมีการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขาย (filing) และร่างหนังสือชี้ชวน (prospectus) ตามที่กำหนด โดยการเสนอขายต้องกระทำผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.เช่นกัน

ก.ล.ต.มีสิทธิปฏิเสธการอนุญาตหากเห็นว่า ICO issuer หรือ deal มีลักษณะดังนั้น คือ (ก) ด้าน fairness & compliance: มีเหตุควรสงสัยว่าผู้ระดมทุนตั้งใจจะไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์การก กับดูแล หรือต้องการเอาเปรียบผู้ลงทุน (ข) ด้าน transparency & clarity: ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับแผนธุรกิจ หรือมีเหตุควรสงสัยว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ไม่ชัดเจนเพียงพอ เป็นเหตุให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิด หรืออาจกระทบต่อสิทธิของผู้ลงทุน และ (ค) ด้าน integrity: กรรมการ / ผู้บริหารมีลักษณะต้องห้าม

ส่วนผู้ที่จะระดมทุนต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด โดยในขั้นแรกเห็นควรเปิดให้เฉพาะบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงการคลัง

สำหรับแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายและร่างหนังสือชี้ชวนที่ยื่นต่อ ก.ล.ต.ต้องไม่มีข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือที่อาจทำให้สำคัญผิด และไม่ขาดข้อความที่ควรต้องแจ้งในสาระสำคัญ รวมทั้งมีรายละเอียด เช่น วัตถุประสงค์ของการเสนอขายต่อประชาชน ชื่อบริษัทที่ออกเสนอขาย ทุนของบริษัท จำนวนและประเภทที่เสนอขาย ราคาที่คาดว่าจะขายเสนอขายต่อหน่วย ลักษณะการประกอบธุรกิจ ฐานะทางการเงินที่แสดงงบการเงินรอบปีบัญชีล่าสุดและไตรมาสสุดท้ายก่อนยื่นคำขอ ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีที่สำนักงานยอมรับ(ถ้ามี)

รวมทั้งข้อมูลการดำเนินงานและข้อมูลที่สำคัญของธุรกิจ ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่ออกเสนอขาย ผู้สอบบัญชี ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทที่ออกเสนอขาย วิธีการจอง จัดจำหน่าย และจัดสรร และข้อมูลอื่น ๆ ที่ ก.ล.ต.กำนด และในกรณีที่แบบแสดงข้อมูลเป็นเท็จ ผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้เสนอขายได้

โดยผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล ต้องระบุประเภทของโทเคนดิจิทัลให้ชัดเจนว่าเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน หรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (utility token) ซึ่งต้องมีลักษณะของสิทธิตรงตามที่ระบ

สำหรับ ICO portal จะมีบทบาททำนองเดียวกับที่ปรึกษาทางการเงินของการเสนอขายหลักทรัพย์ (FA) และถูกคาดหวังให้เป็นผู้กลั่นกรองโทเคนดิจิทัลที่ขออนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต.ตลอดจนกลั่นกรองความถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วนของข้อมูลใน filing และตรวจสอบ source code ของ smart contract ให้ตรงกับสิ่งที่ได้เปิดเผยไว้

เงื่อนไขในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ ICO portal จะครอบคลุมถึง (1) การทำ due diligence และคัดกรองผู้ระดมทุน รวมทั้งพิจารณาแผนธุรกิจและโครงสร้างการกระจาย digital token (2) การตรวจสอบ source code ของ smart contract ที่จะใช้ enforce สัญญาโดยอัตโนมัติเทียบกับ white paper (3) การมีกระบวนการเพื่อทำความรู้จักตัวตนของผู้ลงทุน (KYC) และ suitability test ส หรับ retail investor (4) การดูแลให้ ICO issuer ปฏิบัติตาม minimum disclosure requirements (5) การดูแล investment limit สำหรับผู้ลงทุนรายย่อย (6) การมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันของการซื้อขายและถือครองโทเคนดิจิทัล (7) การให้ความร่วมมือกับสำนักงานในการกำกับดูแลภายหลังการเสนอขาย

ทั้งนี้ ICO portal ต้องเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและมีทุนจดทะเบียน อย่างน้อย 5 ล้านบาท โดยผู้ถือหุ้น กรรมการ และผู้บริหารต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม

ในเรื่องระยะเวลาในการเสนอขาย สำนักงานเห็นควรพิจารณาเป็น 2 รูปแบบ คือ (ก) อนุญาตแบบขายครั้งเดียว: ผู้ที่จะระดมทุนจะต้องออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลภายใน 6 เดือนนับจากวันที่ได้รับอนุญาต โดยสามารถขอผ่อนผันเพื่อขยายระยะเวลาได้อีก 6 เดือน และ (ข) อนุญาตแบบ shelf และทยอยระดมทุน

ก.ล.ต.ระบุว่า ได้ขอรับฟังความคิดเห็นว่าสมควรเปิดให้มีการอนุญาตแบบ shelf แล้วให้ทยอยระดมทุนหรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากมีผู้ให้ความคิดเห็นว่าการทยอยระดมทุนเท่าที่จำเป็นจะมีความเสี่ยงต่อผู้ลงทุนน้อยกว่าการระดมทุนจำนวนมากครั้งเดียว อย่างไรก็ดี ช่องทางนี้ยังมีประเด็นต้องพิจารณาต่อไปถึงอายุการ shelf และเงื่อนไขในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลหรือสถานะบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

ภายหลังการเสนอขาย ผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล ต้องให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่องแก่ ICO portal ที่เสนอขายผ่าน และศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับ list โทเคนดิจิทัลดังกล่าว

ประเภทผู้ลงทุนที่สามารถเสนอขายโทเคนดิจิทัลให้ได้ได้แก่

(ก) ผู้ลงทุนสถาบัน

(ข) ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (ultra high net worth investors เช่น บุคคลธรรมดา ที่มีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 70 ล้านบาทขึ้นไป หรือรายได้ต่อปี10 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีเงินลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 25 ล้านบาทขึ้นไป เป็นต้น)

(ค) นิติบุคคลร่วมลงทุน (venture capital fund) หรือ กิจการเงินร่วมลงทุน (private equity fund)

(ง) ผู้ลงทุนลักษณะเฉพาะ (qualified investor) เช่น บุคคลธรรมดาที่มีประสบการณ์ในการท ธุรกิจไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีเงินลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาทหรือบุคคลธรรมดาที่มีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 50 ล้านบาท หรือรายได้ต่อปี 4 ล้านบาทขึ้นไป ที่มีประสบการณ์ลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 1 ปี เป็นต้น5

(จ) ผู้ลงทุนรายย่อยอื่น ๆ ไม่เกินรายละ 3 แสนบาทต่อการเสนอขายในครั้งนั้น

นอกจากนี้มีการกำหนดมูลค่าสูงสุดของการเสนอขายในแต่ละครั้งต่อผู้ลงทุน ประเภทนี้รวมกันไม่เกินมูลค่าดังนี้แล้วแต่มูลค่าใดจะสูงกว่า

(1) ไม่เกิน 4 เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้นของผู้เสนอขาย

(2) ไม่เกินร้อยละ 70 ของมูลค่าทั้งหมดที่เสนอขาย

ในกรณีที่ผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล จะรับค่าซื้อเป็นคริปโทเคอร์เรนซีให้ผู้เสนอขายรับได้เฉพาะคริปโทเคอร์เรนซีที่ได้มาจากการซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือฝากไว้กับศูนย์ซื้อขาย นายหน้า หรือผู้ค้าที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น โดยต้องเป็นคริปโทเคอร์เรนซีที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด

สำหรับแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่สำนักงานเห็นว่าควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ได้แก่

1 ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset exchange) จะต้องเป็นบริษัทที่จัดตั้งในไทย ดำรงส่วนของผู้ถือหุ้นขั้นต่ำ 50 ล้านบาทไว้ตลอดเวลา ค่าธรรมเนียม เป็นค่าใบอนุญาต 2.5 ล้านบาท สำหรับศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี และ 2.5 ล้านบาทสำหรับศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล ส่วนค่าธรรมเนียมรายปี 0.002% ของมูลค่าซื้อขาย หรือขั้นต่ำปีละ 500,000 บาทและสูงสุดไม่เกินปีละ 20,000,000 บาท

2 นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset broker) จะต้องเป็นบริษัทหลักทรัพย์ในปัจจุบันหรือบริษัทที่จัดตั้งในไทย ดำรงส่วนของผู้ถือหุ้นขั้นต่ำ 25 ล้านบาทไว้ตลอดเวลา ค่าธรรมเนียม ประกอบด้วย ค่าใบอนุญาต 1.25 ล้านบาทสำหรับนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี และ 1.25 ล้านบาทสำหรับนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล ส่วนค่าธรรมเนียมรายปี 0.001% ของมูลค่าซื้อขาย ขั้นต่ำปีละ 250,000 บาทและสูงสุดไม่เกินปีละ 10,000,000 บาท

3 ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset dealer) จะต้องเป็นบริษัทหลักทรัพย์ในปัจจุบันหรือนิติบุคคลที่จัดตั้งในไทยอื่น ๆ ดำรงส่วนของผู้ถือหุ้นขั้นต่ำ 5 ล้านบาทไว้ตลอดเวลา ค่าธรรมเนียม ประกอบด้วย ค่าใบอนุญาต 1 ล้านบาทสำหรับผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีและผู้ค้าโทเคนดิจิทัล ส่วนค่าธรรมเนียมรายปี 1% ของกำไรจากการค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ขั้นต่ำปีละ100,000 บาท และ สูงสุดไม่เกินปีละ 5,000,000 บาท


แท็ก พ.ร.ก.   ก.ล.ต.   นิยาม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ