ASP คาด Q2/61 รายได้ต่ำกว่า Q1/61 รับผลกระทบดัชนี SET ปรับลง-วอลุ่มตลาดหด,คาด H2 ผลงานฟื้นตามทิศทางตลาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 21, 2018 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิทเยนท์ อัศวนิก กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) เปิดเผยว่า แนวโน้มรายได้ของบริษัทในไตรมาส 2/61 คาดว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/61 เนื่องจากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่มีสัดส่วนรายได้ 41% ของรายได้รวม ได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดหุ้นไทยที่มีความผันผวนและมีการปรับตัวลดลง ประกอบกับมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ (วอลลุ่ม) ในไตรมาส 2/61 มีแนวโน้มที่น้อยกว่าไตรมาส 1/61 ที่เฉลี่ย 6 หมื่นล้านบาท/วัน เนื่องจากในไตรมาส 2/61 มีวันหยุดทำการมากกว่าไตรมาสแรกที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/61 ในภาพรวมชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/61

ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/61 หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คงยังต้องติดตามสถานการณ์อีก 1 เดือนที่เหลือถึงจะสามารถประเมินได้ แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะเห็นการเติบโตขึ้นและดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จะมีทิศทางที่ดีขึ้นตามภาวะตลาดหุ้นไทยที่ปกติจะดีขึ้นในช่วงปลายปี

รวมไปถึงธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนจะมีการเติบโตขึ้นมากในช่วงครึ่งปีหลัง และยังมีรายได้ที่เข้ามาเสริมจากธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินและวาณิชย์ธนกิจ ซึ่งจะมีดีล IPO ออกมาในช่วงครึ่งหลัง 4 ดีล จากที่ไม่มีดีล IPO ออกมาในครึ่งปีแรก ซึ่งดีล IPO ที่ออกมาสามารถช่วยหนุนรายได้ในครึ่งปีหลังได้ โดยที่บริษัทยังมั่นใจรรายได้ในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เติบโต 15%

"ธุรกิจของ ASP เป็นธุรกิจที่ผันผวนตามภาวะตลาดหุ้นไทยและปัจจัยภายนอก เพราะเรามีการลงทุนในต่างประเทศด้วย อย่างเช่นในตอนนี้จะเห็นว่ารายได้จากธุรกิจโบรกเกอร์จะได้รับผลกระทบ หลังจากที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง และไม่ถึงเป้าหมายดัชนีที่โบรกเกอร์ต่างๆเคยมองไว้ที่ 1,800 กว่าๆถึง 1,900 จุด ซึ่งตอนนี้จะเห็นว่า celling ของดัชนีจะอยู่ที่ 1,780 จุด ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโบรเกอร์อย่างแน่นอน แต่ ASP ก็มีการกระจายธุรกิจที่สมดุล ทั้งในส่วนของธุรกิจโบรกเกอร์ ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์และบริหารจัดการกองทุน ธุรกิจการลงทุนในต่างประเทศ และธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินและวาณิชธนกิจ เพื่อเป็นการกระจายรายได้และกระจายความเสี่ยง หลังจากที่ธุรกิจโบรกเกอร์มีการแข่งขันรุนแรง ซึ่งส่งผลต่อมาร์เก็ตแชร์ของบริษัทที่ลดลง และค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งค่าธรรมเนียมของอุตสาหกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ 0.11% ของ ASP มากกว่าอุตสาหกรรมที่ 0.16% แต่เราไม่เน้นแข่งขันในเรื่องดังกล่าว เพราะเราเน้นด้านการให้บริการแก่ลูกค้าที่ดีมากกว่า เพื่อทำให้ลูกค้าใช้บริการเราอย่างต่อเนื่อง"นายพิทเยนท์ กล่าว

ขณะที่ธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินและวาณิชธนกิจปัจจุบันบริษัทมีอยู่ทั้งหมด 55 ดีล แบ่งเป็น ดีล IPO จำนวน 27 ดีล และดีลที่ปรึกษาทางการเงิน 28 ดีล ส่วนธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนและบริหารสินทรัพย์ของบริษัทปัจจุบันมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) รวมอยู่ที่ 6.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนที่ 6 หมื่นล้านบาท

ส่วนการลงทุนของบริษัทนั้นยังมองโอกาสในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในสตาร์ทอัพ ซึ่งปัจจุบันมีการลงทุนในสตาร์อัพไปแล้ว 3-4 ธุรกิจ ซึ่งสตาร์ทอัพที่ให้ผลตอบแทนที่ดีอย่างชัดเจน คือ LaLaMove ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 100% ส่วนธุรกิจสตาร์ทอัพที่เหลือที่บริษัทได้ลงทุนไปยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการเติบโต

ด้านผลกระทบจากมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ในส่วนของบริษัทนั้นมองว่าไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน เนื่องจากในส่วนของลูกค้าที่มีการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ หรือบัญชีมาร์จิ้น เป็นลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำ เพราะมีหลักทรัพย์เป็นสินทรัพย์เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน แต่ในแง่ของการพิจารณาอนุมัติการใหงินกู้ยืมกับลูกค้าหลังมาตรฐานบัญชีใหม่มีผลบังคับแล้วนั้น สิ่งที่กระทบคือการพิจาณาให้เงินกู้ยืมแก่ลูกค้าที่จะต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ