ทรูมูฟติงให้บ.ลูกครึ่งประมูล 3G อาจผิดรธน./AIS-DTAC เสนอเพิ่มอายุไลเซ่นส์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 28, 2009 18:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทรูมูฟยกประเด็นตีกัน 2 รายใหญ่กลางประชาพิจารณ์ 3G ติงการให้สิทธิบริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้นเข้าประมูลเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญด้านความมั่นคงที่กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติ ขณะที่เอไอเอส-ดีแทค ประกาศพร้อมสู้ทุกราคา แต่เรียงหน้าวิจารณ์หลายประเด็นยังไม่ชัดเจน เสนอปรับสาระสำคัญอายุใบอนุญาตเพิ่มเป็น 20-25 ปี จากข้อกำหนด 15 ปีเอกชนมองสั้นเกินไปไม่คุ้มค่าลงทุน

นายอธึก อัศวานนท์ รองประธานกรรมการ และ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกฎหมาย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE)กล่าวในเวทีประชาพิจารณ์"ร่างสรุปข้อสนเทศการจัดสรรคลื่นความถี่ 3G รวมทั้งการประมูลและใบุอนุญาตคลื่นความถี 3G "ว่า ร่างสรุปข้อสนเทศที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)เปิดให้รัฐวิสาหกิจต่างชาติเข้าร่วมประมูลได้ รวมทั้งบริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้น ได้แก่ เทมาเส็ก ที่ถือหุ้นใน ADVANC และ เทเลนอร์ ที่ถือหุ้นใหญ่ใน DTAC อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญด้านความมั่นคง

"ผมไม่เห็นด้วยที่จะให้รัฐวิสาหกิจต่างชาติเข้ามา แม้ว่าบริษัทเหล่านี้จะเข้าตามเกณฑ์ตามกฎหมายต่างด้าวก็ตาม ส่วนรัฐวิสาหกิจไทย ก็ไม่มีความสามารถในการแข่งขัน" นายอธีก กล่าว

ขณะที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร TRUE กล่าวว่า การที่กทช.เปิดประมูลใบอนุญาต 3G โดยให้มีการแข่งขันด้านราคาใบอนุญาตไม่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ ที่ปัจจุบันก็ล้าหลังประเทศอื่นอยู่แล้ว และไม่ได้สร้างการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่มีอำนาจในการลงทุนในจำนวนมาก โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เสียส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาสัมปทานเดิมอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท พร้อมคงที่จะลงทุนและประมูลไลเซ่นส์ 3G ที่ราคา 3-4 หมื่นล้านบาท แต่ TRUE จ่ายส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาสัมปทานเดิมที่ 5-6 พันล้านบาท/ปี คงมีพร้อมที่จะลงทุนราว 5-6 พันล้านบาท หรือไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากเปิดเสรีจริงก็ต้องพิจารณาส่วนนี้ให้เป็นธรรม

"ที่มีคนสบประมาทว่า TRUE มีหนี้เป็นจำนวนมากไม่สามารถประมูลได้แต่ผมยืนยันว่าผมพร้อมที่จะประมูลผมประมูลได้และสู้ขาดใจแต่ผมเป็นบริษัทคนไทยที่เหลืออยู่รายเดียวในอุตฯจะยืนหยัดสู้กับบริษัทข้ามชาตืและรัฐวิสาหกิจที่เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในโทรคมนาคมไทย" นายศุภชัย กล่าว

นายศุภชัย กล่าวว่า ในฐานะที่ทรูมูฟเป็นบริษัทของคนไทย ทั้งที่จริง ๆ แล้วบริษัทก็สามารถมีนอมินีต่างชาติเข้ามาถือหุ้น เพื่อสร้างอำนาจแข่งขันและต่อสู้กับบริษัทอื่นๆ แต่บริษัทต้องการดำรงสถานะความเป็นบริษัทของคนไทย และเห็นว่าคลื่นความถี่ก็เป็นสมบัติของแผ่นดิน จึงไม่ต้องการให้ผู้ถือหุ้นต่างประเทศเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง

"ผมในฐานะที่เป็นผู้บริหาร TRUE ผมต้องการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และการทำสิ่งเหล่านี้เพื่อว่าอนาคตคนไทยจะคำนึงถึงเพราะผมไม้ได้ทรยศต่อชาติและต้องการรักษาไว้ซึ่งอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เพราะตั้งแต่ผมเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้บริษัทคนไทยก็ถูกต่างชาติเข้าครอบงำ พอปัจจุบันจะมีจุดเปลี่ยนสำคัญคือไลเซ่นส์ 3G ผมต้องการให้มีความเสรีและเป็นธรรมในอุตฯนี้มากกว่าคำนึงถึงว่าใครมีเงินมากกว่าก็สามารถได้คลื่นความถี่ไป"นายศุภชัย กล่าว

นายพรรัตน์ เจนจรัสสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและวิเคราะห์การตลาด บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอส เห็นว่าใบอนุญาตให้บริการ 3G ควรจะมีอายุ 25 ปี จึงจะเหมาะสมกับการลงทุนที่มีวงเงินมหาศาล เพราะการกำหนด 15 ปีสั้นเกินไป

นอกจากนั้น บริษัทยังมองว่ารูปแบบการประมูลตามกฎเกณฑ์ที่ออกมายังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร จึงจะส่งเอกสารให้กทช.เพื่อพิจารณารายละเอียด และต้องการให้มีการแก้ไขกฎเกณฑ์การกำหนดการพัฒนาโครงข่ายที่จะต้องได้ครอบคลุมพื้นที่ 50% ของประเทศภายใน 2 ปี และ 80% ภายใน 4 ปี ควรจะกำหนดตามกลุ่มประชากรมากกว่าเพราะคลื่น 2.1 เมกะเฮิร์ซ เป็นคลื่นที่เหมาะสมกับการพัฒนาในพื้นที่เขตเมืองมากกว่าพื้นที่ชนบท

รวมถึงเสนอให้จัดเวที Focus Group พูดคุยลงลึกในรายละเอียดอีกครั้ง

ด้านแหล่งข่าวจาก บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC)กล่าวว่า การที่ กทช.กำหนดกฎเกณฑ์ออกมาที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการประมูลใบอนุญาต 3G เช่น อายุสัมปทาน 15 ปี บริษัทเห็นว่าควรจะอยู่ที่ 20 ปี เพราะการคืนทุนต้องใช้เวลา เนื่องจาก กทช.มีข้อกำหนดว่า 3G สามารถให้บริการควบคุมพื้นที่ 50% ของประเทศภายใน 2 ปีและ 80% ของประเทศภายใน 4 ปี ทั้ง ๆ ที่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการลงทุนขนาดใหญ่ภายใต้เวลาระยะสั้น ซึ่งบริษัทเห็นว่าไม่คุ้มกับการลงทุน และหากมีการกำหนดราคาค่าใบอนุญาตสูงเกินไปก็ไม่เหมาะสมกับการลงทุน

"ไม่ใช่ว่ากทช.จะกำหนดราคาแพงๆ หรือให้อายุสัญญาเท่าใดก็ได้เพราะหากไม่คุ้มกับการลงทุนบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศก็อาจไม่เข้าร่วมประมูล ซึ่งอาจจะมีปัญหาภายหลัง ดังนั้น ควรมีการแก้กฎเกณฑ์เพื่อให้มีการประมูลผ่านไปได้" แหล่งข่าว กล่าว

ทั้งนี้ DTAC ตั้งเป้าที่จะมีกระแสเงินสดภายในปีนี้ 1.2 หมื่นล้านบาทเพื่อที่จะนำมาลงทุนในการประมูลคลื่น 3G ส่วนเงินลงทุนโครงข่ายก็คงจะต้องมีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน เนื่องจากต้องใช้วงเงินลงทุนจำนวนมาก ส่วนการถือหุ้นของเทเลนอร์ยืนยันว่าถือหุ้นเพียง 49% และผ่านการตีความ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการเข้าประมูลตามกฎเกณฑ์ของ กทช.แต่อย่างใด

ขณะที่ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ตั้งข้อสังเกตว่า กทช.ไม่ได้ชี้แจงหรือความอธิบายว่าโครงสร้างตลาดในอนาคตของธุรกิจโทรคมนาคมไทยที่จะมีคลื่นความถี่ 3G เข้ามาใช้ ควรจะมีผู้เล่นกี่ราย รายเก่า และรายใหม่จำนวนเท่าใดกันแน่

รวมทั้งการกำหนดคุณสมบัติของบริษัทที่เข้าร่วมประมูล โดยเฉพาะการดูว่าเอกชนจะต้องมีสัญชาติไทย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของ กทช. และควรจะมีรายละเอียดชัดเจนมากกว่านี้ โดยเฉพาะราคาเริ่มต้น ควรจะกำหนดให้รู้ในวันนี้เพื่อจะได้ถกกันว่าราคาช่วงไหนมีความเป็นไปได้ และผู้เข้าร่วมประมูลก็จะได้เตรียมตัวได้

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตุว่า หลังกทช.เปิดให้สมัครเข้าประมูล กทช.ให้เวลา 30 วันเท่านั้นก่อนจะมีสิทธิเข้าประมูล จะเห็นว่า เอกชนที่มีเงินทุนหนาจะได้เปรียบ หรือที่รู้ข้อมูลวงใน

"กทช.จะต้องมีไอเดียดูภาพรวมใหญ่ของตลาด ผมมองงว่า กทช.ไม่จำเป็นต้องแจกใบอนุญาตพร้อมกันทั้ง 4 ใบ ถ้ายังไม่มีผู้เล่นพร้อมเข้าประมูลก็ไว้ประมูลทีหลังก็ได้ แต่การทำแฝงความไม่โปร่งใส " นายสมเกียรติกล่าว

ด้านตัวแทน บมจ.กสท โทรคมนาคม ก็เห็นด้วยว่า จำนวนผู้ให้บริการ 3G กี่ราย ซึ่งจะมีทั้งรายเก่าอยู่ที่ทำบนคลื่น 2G มีอยู่ 3 รายใหญ่ และ 2 รายเล็ก และเท่าที่ดูตามข้อมูลมีผู่พร้อมเข้าร่วมประมูลได้ประมาณ 2 ราย และ กสท.เสนอให้ กทช.ประมูลคลื่นความถี่แบบวิธี Beauty Contest ไม่ใช่แข่งขันด้านราคา

"process ให้แวลาไม่ถึง 2 เดือน แทบไม่มีให้รายอื่นเตรียมตัว มีผู้เข้าประมูล 2 รายที่เข้าประมูลได้"ตัวแทน กสท. กล่าว

ขณะที่นายเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กรรมการ กทช. กล่าวว่า การเปิดประมูลคลื่นความถี่ 3G ไม่ได้เจตนาต้องการได้เงินมาก ๆ ให้รัฐบาล แต่เราเลือกวิธีการประมูล SMR หรือ การประมูลพร้อมกันแบบหลายรอบ เพราะเชื่อมั่นว่าเป็นวิธีการที่โปร่งใส และเกิดความเป็นธรรม เพราะเห็นว่าคนที่ได้คลื่นความถี่ไปก็ควรจะเป็นคนที่ตีราคาคลื่นเอง

อย่างไรก็ตาม การให้บริการคลื่นความถี่ 3G ของไทยล่าช้ามาราว 10 ปี แม้ว่า กรรมการ กทช. บางคนที่ออกไปเป็นไปตามวาระแต่ตราบใดที่ยังไม่มีการแต่งตั้งก็ยังทำงานได้เหมือนเดิม และ กทช.ทุกคนจะทำงานจนกว่าจะมีคนใหม่เข้ามาแทน และยืนยันว่าไม่ได้เป็นการทิ้งทวน แต่กลัวว่าจะเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มากกว่า



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ