เอกชน 4 รายร่วมประมูลก่อสร้างด่านเก็บเงินมอเตอร์เวย์ 1.9 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 5, 2010 17:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระ เรืองสุขศรีวงศ์ อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) เปิดเผยว่า ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนซื้อเอกสารประกวดราคาโครงการก่อสร้างด่านเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางถาวร บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 หรือมอเตอร์เวย์ สายกรุงเทพ-ชลบุรี วงเงิน 1,950 ล้านบาท ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 มี.ค. ซึ่งมีเอกชนสนใจซื้อเอกสารรวม 4 ราย

ประกอบด้วย 1.กิจการร่วมค้าออลมอเตอร์เวย์ 2.บมจ. ช.การช่าง (CK) 3.บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และ 4.กิจการร่วมค้า IQTจอยท์เวนเจอร์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค คาดว่าจะได้ข้อสรุปปลายเดือนเม.ย.นี้ หลังจากนั้นจะให้บริษัทที่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิค ยื่นข้อเสนอด้านราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรืออี-อ็อคชั่นในเดือนพ.ค.นี้ คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ภายในเดือนมิ.ย.53 ใช้เวลาก่อสร้าง 700 วัน

สำหรับงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างจะมาจากเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง โดยสาเหตุที่กรมทางหลวงต้องลงทุนก่อสร้างด่านเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบถาวร เป็นผลจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นระบบปิดจากเดิมที่เป็นระบบเปิด ซึ่งไม่สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้ทางได้ทั้งหมด โดยระบบใหม่นี้ผู้ใช้ทางต้องรับบัตรก่อนเข้าสู่ระบบและจ่ายเงินค่าธรรมเนียมที่ด่านขาออก เช่นเดียวกับโครงการทางพิเศษบูรพาวิถีหรือทางด่วนบางนา-ชลบุรี ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) อีกทั้งครม.ยังมีมติอนุมัติให้กรมฯ จัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางในระบบปิด ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 2532

ทั้งนี้การก่อสร้างด่านเก็บเงินจะครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ด่านลาดกระบัง, ทางแยกต่างระดับบางบ่อ, ทางแยกต่างระดับบางปะกง, ทางแยกต่างระดับพานทอง จนถึงด่านพานทอง โดยเนื้องานหลัก ประกอบด้วย 1.งานปรับปรุงระบบเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางเดิม ที่ด่านลาดกระบัง และด่านพานทอง 2.งานก่อสร้างและติดตั้งระบบเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางใหม่ ที่บริเวณทางแยกต่างระดับ บางบ่อ, บางปะกง และพานทอง 3.งานก่อสร้างอาคารศูนย์ควบคุมกลาง ศูนย์ควบคุมย่อยและอาคารที่พักอาศัย 4.งานอำนวยความปลอดภัยด้านการจราจร(Traffic Control System) และ 5.งานบริหารจัดการจราจร การลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในขณะทำการก่อสร้าง

ด้านนายวันชัย ภาคลักษณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า การจัดเก็บค่าธรรมเนียมแบบใหม่จะส่งผลให้ผู้ใช้ทางได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น เพราะกรมฯ จะคิดค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้ทางตามระยะทางที่ใช้บริการจริง โดยผู้ที่ใช้บริการเป็นระยะทางยาวจะเสียค่าธรรมเนียมมากกว่าผู้ที่ใช้บริการในระยะทางที่น้อยกว่า ต่างจากเดิมที่จัดเก็บค่าผ่านทางแบบเหมาจ่าย

ขณะที่รูปแบบการจัดเก็บค่าผ่านทางจะมีทั้งการใช้พนักงานจัดเก็บและใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งมีระบบอำนวยความปลอดภัยด้านการจราจร (Traffic Control System) เพื่อยกระดับการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยต่อผู้ใช้เส้นทางตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้เป็นไปตามรูปแบบมาตรฐานสากลของมอเตอร์เวย์ทั่วโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ