BLISS ยันเพิ่มทุน PP 3 กลุ่มราคายุติธรรม-ไม่มีผลการบริหาร,คาดรายได้ปีนี้ 2.6 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 7, 2015 11:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจักรกฤษณ์ ธนวิรุฬห์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.บลิส-เทล (BLISS) ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เกี่ยวกับการเพิ่มทุนให้บุคคลในวงจำกัด(PP) 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.นายวิชัย ทองแตง และกลุ่มนักลงทุน 2.นายกัมพล ตติยกวี และกลุ่มนักลงทุน 3.นายนำกฤติ จีรพุทธิรักษ์ และกลุ่มนักลงทุนจำนวนรวม 16,000 ล้านหุ้น (มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท) ในราคาเสนอขายหุ้นละ 0.1050 บาท โดยบริษัทระบุว่าเป็นราคาที่สูงกว่าราคายุติธรรมที่ 0.0793 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาที่ประเมินโดยบริษัทแกรนท์ ธอนตัน เซอร์วิสเซส จำกัด ที่ปรึกษาทางการเงิน

ทั้งนี้ การเพิ่มทุนให้ PP มีผลต่อการลดลงของสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมร้อยละ 45.71 โดยวัตถุประสงค์การเพิ่มทุน คือ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจ ชำระคืนเงินกู้กับสถาบันการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และมีเงื่อนไขที่นักลงทุนตั้งไว้ว่าจะชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนภายใน 45 วันนับจากวันที่ได้รับอนุมัติการเพิ่มทุนและจัดสรรหุ้นให้กับ PP

ส่วนกรณีที่ปัจจุบัน BLISS เป็นบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน ซึ่งการพ้นเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนและได้รับอนุญาตให้กลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นั้น บริษัทจะต้องแสดงได้ว่ามีผลการดำเนินงานจากธุรกิจหลักที่แข็งแรงอย่างต่อเนื่องและมีฐานะการเงินที่มั่นคง แต่ BLISS ยังคงมีผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.57 ขาดทุนสุทธิ 95.42 ล้านบาท ขณะที่ PP มีเงื่อนไขการชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนภายใน 45 วันนับจากวันที่บริษัทสามารถกลับมาทำการซื้อขายหลักทรัพย์ปกติในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้บริษัทไม่สามารถระดมทุนจาก PP ได้ทันตามแผนการใช้เงินทุนตามวัตถุประสงค์การเพิ่มทุนนั้น

บริษัทชี้แจงว่า การดำเนินการจัดหาทุนเข้ามาสร้างเสริมดำเนินงานทางธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงในครั้งนี้จะทำให้บริษัทเกิดความมั่นคงแข็งแรงและสามารถดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตและเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการให้สินเชื่อเป็นอย่างมากในเวลานี้

ขณะที่บริษัทได้มีการปรับปรุงการดำเนินงานทางธุรกิจด้วยรูปแบบแนวทางใหม่(New Business model)ที่แตกต่างจากในอดีตอันประกอบด้วย ธุรกิจเครือข่ายการสื่อสารและโทรคมนาคม(Telecom solution) ธุรกิจระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ(IT solution) ธุรกิจงาน Software และ Digital media ซึ่งทำให้บริษัทมีการดำเนินธุรกิจและมีรายได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพ.ค.56 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ตลอดจนมีกระแสเงินสดคล่องตัวขึ้น ดังนั้น บริษัทจึงเป็นที่สนใจของผู้ลงทุนที่เข้าใจในธุรกิจ Telecom และธุรกิจ ITมองเห็นศักยภาพในการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับกระแสของการพัฒนาประเทศไทยและของโลกในปัจจุบัน

สำหรับการขาดส่งงบการเงินตามเงื่อนไขความเป็นบริษัทจดทะเบียนเกินกว่า 180 วัน คณะกรรมการและฝ่ายบริหารปัจจุบันก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าบริษัทได้ดำเนินการจัดทำงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชีและมีผู้สอบบัญชีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่ทางการประกาศกำหนดยอมรับในคุณสมบัติเข้ามาดำเนินการตรวจสอบสอบทานงบการเงินอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ตาม มาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไปอีกทั้งยังได้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนต่อตลาดหลักทรัพย์

ผลการดำเนินงาน 9 เดือนปี 57 ที่แสดงผลขาดทุน 95.42ล้านบาทนั้น เกิดจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 25 ล้านบาท และตั้งประมาณการค่าเสียหายตามสัญญาการขายสินค้า 38 ล้านบาท รวมเป็นจำนวน 63 ล้านบาท ตามสัญญาขายคอมพิวเตอร์แบบพกพาให้กับบริษัทมหาชนแห่งหนึ่งเพื่อส่งมอบต่อให้กับหน่วยงานราชการตามทบริษัทมหาชนแห่งนั้นได้ประมูลงานได้ แต่เกิดการยกเลิกสัญญาจากหน่วยงานราชการและยกเลิกโครงการในที่สุด อย่างไรก็ตาม บริษัทมีนโยบายเร่งดำเนินการทางกฏหมายหรือเจรจาเพื่อให้เกิดผลสรุปโดยเร็วที่สุดซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนในจำนวนความเสียหายที่แท้จริง หรืออาจไม่เกิดความเสียหายใดๆ เกิดขึ้นเลยก็ได้และบริษัทก็จะดำเนินการแก้ไขกลับรายการดังกล่าวต่อไป

ในประเด็นการกำหนดเงื่อนไขการได้รับชำระเงินจาก PP ภายหลังจากที่บริษัทได้รับอนุญาตให้กลับมาซื้อขายหลักทรัพย์กับระยะเวลาการใช้เงินเพิ่มทุนนั้น บริษัทคาดว่าจะใช้เงินทุนเงินเพิ่มทุนเพื่อรองรับการขยายธุรกิจในช่วงไตรมาส 1/58 ถึงไตรมาส 3/58 ทั้งธุรกิจเครือข่ายการสื่อสารและโทรคมนาคม (Telecom Solution) จำนวน 700 ล้านบาท เช่น งานก่อสร้างสถานีโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ประมาณ 300 ล้านบาท สถานีตรวจสอบสัญญาณของ กสทช จำนวน 32 สถานี ประมาณ 400 ล้านบาท

และ ธุรกิจระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Solution) จำนวน 300 ล้านบาทเช่น สัญญาขายหมึกพิมพ์ให้แก่ธนาคารออมสิน และ กทม ประมาณ 100 ล้านบาท ระบบ Cloud ของธนาคาร ธกส ประมาณ 100 ล้านบาท ระบบ Smart Classroom ของกระทรวงศึกษาธิการ ประมาณ 200 ล้านบาท

รวมทั้ง ธุรกิจซื้อมาขายไป (Trading) จำนวน 300 ล้านบาทเช่น เคเบิลใยแก้ว อุปกรณ์ Radio Frequency สำหรับเครือข่ายระบบโทรคมนาคมของ AIS DTAC TRUE และ TOT ชำระคืนเงินกู้กับสถาบันการเงิน จำนวน 150-280 ล้านบาท เนื่องจากมีเงื่อนไขที่ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นบริษัทมหาชนเช่นการกำหนดให้กรรมการบางท่านค้ำประกันเป็นส่วนตัว และ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการจำนวน 100 - 230 ล้านบาท เ

ส่วนกรณีที่บริษัทยังไม่สามารถดำเนินการให้พ้นเหตุอาจถูกเพิกถอนได้ภายในกำหนดเวลาที่ต้องใช้เงินเพิ่มทุนในแต่ละวัตถุประสงค์ บริษัทก็ได้มีการติดต่อธนาคารพาณิชย์ที่ให้ความสนใจสนับสนุนโครงการต่างๆที่บริษัทประมูลงานได้ เช่น งานสถานีตรวจสอบสัญญาณของ กสทช จำนวน 32 สถานี ประมาณ 400 ล้านบาทที่ได้มีการลงนามในสัญญาไปแล้วปัจจุบันอยู่ในระหว่างเจรจาเงื่อนไขเงินกู้และวงเงินสินเชื่อในรูปแบบต่างๆ

แหล่งเงินต่อมาคือกระแสเงินหมุนเวียนจากการดำเนินงานในโครงการก่อนหน้านี้ในอดีตที่มีการทยอยส่งมอบงานให้กับหน่วยงานและผู้ว่าจ้างอีกแหล่งเงินหนึ่งคือเงินที่ได้จากการขายกิจการบริษัทลูกที่การดำเนินธุรกิจไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัทเช่นการขายบริษัท Bliss sportที่บริษัทได้รับชำระเป็นเงินจากการซื้อขายเข้ามาในกิจการแล้วจำนวน 20 ล้านบาทและการขายเงินลงทุนของบริษัท บลิส ไทย แอสเสท จำกัด จำนวน 88 ล้านบาท รวมทั้งจะได้รับเงินจากการชำระหนี้ในบริษัทย่อยดังกล่าวทั้ง 2 แห่งในหนี้ที่มีกับบริษัทต่อไปอีกจำนวน 36 ล้านบาท และ 25 ล้านบาทตามลำดับ รวมเป็นเงิน 61 ล้านบาท

ประการสุดท้ายลักษณะของการจัดหาเงินทุนเพื่อดำเนินธุรกิจลักษณะโครงการบริษัทก็จะใช้วิธีการโอนสิทธิรับเงินจากผู้ว่าจ้างให้กับสถาบันการเงินหรือในประการสุดท้ายบริษัทยังมีแหล่งเงินเครดิตจากผู้ขายสินค้าอุปกรณ์ที่เป็นคู่ค้ากับบริษัท

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการไม่สามารถระดมทุนได้ทันตามแผนการใช้เงินเพิ่มทุนในแต่ละวัตถุประสงค์ คือบริษัทจะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นในส่วนของดอกเบี้ยจ่าย เนื่องจากการใช้เงินทุนจากการออกหุ้นสามัญนั้นไม่มีภาระทางด้านดอกเบี้ยจ่ายเช่นการก่อหนี้กับสถาบันการเงิน ประการต่อมาคือสัดส่วนหนี้สินต่อทุนหรือ Debt Equity ratio ของบริษัทอาจเพิ่มสูงขึ้นไปอาจทำให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ประเมินว่าบริษัทมีความเสี่ยงทางการเงิน(Financial risk)เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทมีความเห็นว่าเงื่อนไขการชำระเงินเพิ่มทุน PP มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับระยะเวลาการใช้เงินเพิ่มทุนของบริษัท เพราะเหตุว่าบริษัทได้ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาอันเป็นอุปสรรคที่สำคัญคือการมีธุรกิจที่ต่อเนื่องและการจัดทำรายงานทางการเงินตามเงื่อนไขที่ผู้กำกับดูแลและตามที่ตลาดหลักทรัพย์ได้ประกาศกำหนดมาโดยตลอดอย่างเคร่งครัด

ส่วนประเด็นที่มาและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเพิ่มทุน PP ทั้ง 3 กลุ่มให้แก่บริษัท เนื่องจากผู้ที่ติดต่อประสานงาน คือนายนำกฤติ จีรพุทธิรักษ์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของบริษัทตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.57 และดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัท กริน กรุ๊ป(ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ และเป็นหนึ่งในกลุ่มนักลงทุน PP ในจำนวน 1,000,000,000 หุ้นคิดเป็นร้อยละ 2.86 ได้ติดต่อมายังประธานคณะกรรมการบริษัทว่ามีกลุ่มนักลงทุนซึ่งมีความรู้ความสามารถในเรื่องของการพัฒนาระบบสารสนเทศและโทรคมนาคมของประเทศไทยการคมนาคมขนส่ง การค้าปลีกค้าส่ง อสังหาริมทรัพย์ อยากเข้ามาลงทุนในบริษัทด้วย เพราะมองเห็นศักยภาพในการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต และสามารถที่จะต่อยอดการทำธุรกิจจากฐานธุรกิจของแต่ละกลุ่มผู้ลงทุนให้เกิดขึ้นได้ในอนาคตหากได้เข้ามาถือหุ้นบริษัท ประการต่อมาคือผู้ลงทุนทราบมาว่าคณะกรรมการและฝ่ายบริหารตลอดจนที่ปรึกษาคณะกรรมการในชุดปัจจุบันโดยเฉพาะประธานคณะกรรมการมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้มีข้อตกลงหรือเงื่อนไขห้ามนักลงทุน PP จำหน่ายหรือโอนหุ้น (Silent Period) แต่ประการใด และแม้ว่ากลุ่มนายวิชัย ทองแตง และกลุ่มนายกัมพล ตติยกวี จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 20 ของทุนชำระแล้ว และถือหุ้นในสัดส่วนสูงสุดภายหลังการเพิ่มทุนให้กลุ่มนักลงทุน PP แต่จนถึงปัจจุบันและจากหนังสือของนักลงทุน PP ได้ระบุว่ามีความประสงค์จะลงทุนเพียงอย่างเดียว จะไม่เข้ามาควบคุมการบริหารงานและร่วมในการดำเนินงานของบริษัท ดังนั้น จึงไม่มีผลกระทบต่อบริษัทแต่อย่างใด

ขณะที่การประเมินราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน PP ที่ปรึกษาทางการเงินให้วิธีการประเมินมูลค่าหุ้นที่เหมาะสมของ BLISS คือวิธีส่วนลดกระแสเงินสด ซึ่งเป็นวิธีที่มีราคาเท่ากับ 0.0793 บาทต่อหุ้น (มูลค่าที่ตราไว้ 0.1000 บาทต่อหุ้น)ซึ่งเป็นราคายุติธรรมที่บริษัทฯ จะใช้อ้างอิงแทนราคาตลาดของหุ้นตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.28/2551 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่และประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่สจ.39/2551เรื่องการคำนวณราคาเสนอขายหลักทรัพย์และการกำหนดราคาตลาดเพื่อการพิจารณาการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำ

บริษัทประมาณการรายได้ปี 58 จำนวน 2,630.89 ล้านบาท มาจาก 1.โครงการตามสัญญาที่อยู่ระหว่างการดำเนินการซึ่งจะรับรู้รายได้ในปี 58 จำนวน 525.27ล้านบาท 2.โครงการต่อเนื่องจากโครงการเก่าที่บริษัทดำเนินการอยู่ และโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเซ็นสัญญา ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะได้งาน อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาได้ปรับประมาณการลดร้อยละ 10 จากประมาณการของผู้บริหารเหลือ 503.08 ล้านบาท ตามความน่าจะเป็นและเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความระมัดระวัง (Conservatism) 3.โครงการที่บริษัทมีแผนที่จะเข้าประมูลในปี558 โดยที่ปรึกษาได้ปรับมูลค่าตามแผนงานของบริษัทลงร้อยละ 35 เหลือ 1,602.54 ล้านบาท

นอกจากนั้น ผู้บริหารของบริษัทฯ คาดว่าจะได้งานต่อเนื่องและมีขนาดโครงการใหญ่ขึ้น สำหรับลูกค้าในกลุ่มบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที 3 ราย ได้แก่ AIS, DTAC และ TRUE ได้เตรียมงบประมาณปรับปรุงอุปกรณ์และขยายความครอบคลุมของเครือข่ายทุกจังหวัดภายใน 3 ปีข้างหน้า รวมกันกว่า 100,000 ล้านบาททางผู้บริหารจึงเชื่อมั่นในโอกาสที่จะมีการเติบโตของรายได้อย่างก้าวกระโดดอีกทั้งปัจจุบันบริษัทฯ มีประวัติการส่งมอบผลงานกับลูกค้าที่ดี ซึ่งจะส่งเสริมให้บริษัทฯ ได้รับงานโครงการต่างๆ ในจำนวนที่มากขึ้น และได้รับโครงการที่มีมูลค่าสูงขึ้นด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ