IEC เผยบ.ย่อยเพิ่มงบปรับปรุงโรงไฟฟ้ารองรับเชื้อเพลิงชีวมวลผสม RDF เป็นเงิน 22.79 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 11, 2016 09:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอรรถวุฒิ เลาหภักดี รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายปฏิบัติการ 2 บมจ.อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง (IEC) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการบริษัท ไออีซี สระแก้ว 1 จำกัด ครั้งที่ 5/2559 ซึ่งเป็นบริษัทย่อย (75%) ของบริษัท เรื่องงบลงทุนในโครงการปรับปรุงเครื่องจักรโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับเชื้อเพลิงชีวมวลผสม RDF เป็นงบประมาณสุทธิ 22,785,000 บาท

บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและเป็นผู้นำด้านธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 8 เมกกะวัตต์ในปี 59 เนื่องด้วยสภาวะตลาดในปัจจุบันมีการแข่งขันด้านการจัดหาเชื้อเพลิงมากขึ้น ทำให้ราคาเชื้อเพลิงในตลาดมีการปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาด ดังนั้น โรงไฟฟ้าไออีซี สระแก้ว 1 จึงได้ริเริ่มการนำ RDF (Refuse Derived Fuel) ที่เป็นแบบย่อยสลายได้ (Bio Degradable) มาใช้ร่วมกับเชื้อเพลิงชีวมวล

ทั้งนี้ เป็นการพัฒนาและเสริมประสิทธิภาพของเชื้อเพลิงสำหรับใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวล ทำให้บริษัทฯสามารถลดต้นทุนและลดการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลได้ เนื่องจาก RDF แบบย่อยสลายได้นั้นมีค่าความร้อน (Calorific Value) สูงมากกว่าเปลือกไม้ และใกล้เคียงไม้สับ แต่ราคาต้นทุนถูกกว่า จึงสามารถนำมาใช้ร่วมเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ ยังสามารถแก้ไขปัญหาการจัดการขยะเชื้อเพลิง ทั้งในด้านการประหยัดพลังงานและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในด้านการจัดหาเชื้อเพลิงและสร้างเสถียรภาพด้านต้นทุนเชื้อเพลิง โรงไฟฟ้าไออีซี สระแก้ว 1 จึงได้นำเชื้อเพลิง RDF แบบย่อยสลายได้ เข้ามาผสมกับเชื้อเพลิงชีวมวลภายใต้สมมติฐานว่า โรงไฟฟ้าจะต้องสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำนวน 8 เมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องใช้เชื้อเพลิงที่ให้ค่าความร้อนสูงกว่า 11,000 kJ/kg

ในการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้นจึงจำเป็นต้องปรับปรุงเครื่องจักรเพิ่มเติม ซึ่งประกอบด้วยเครื่องจักรหลักดังต่อไปนี้

1.De-superheat Valve Control เนื่องจากเตาเผามีขนาดใหญ่ ทำให้ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิของไอน้ำขาออกจากเตาให้คงที่ได้ ดังนั้นต้องเพิ่ม De-superheat Valve Control เพื่อลดอุณหภูมิขาออกลงเพื่อให้อุณหภูมิของไอน้ำขาออกไม่เกิน 5,800 องศาเซลเซียสและควบคุมปริมาณไอน้ำให้เหมาะสมกับปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตและป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้

2. Bar Discharge เป็นการปรับปรุงส่วนประกอบของ Moving Floor ได้แก่ เปลี่ยนพื้น เปลี่ยนชุดดัน และระบบ Hydraulic

3.Weight and moisture Scale เพื่อควบคุมปริมาณเชื้อเพลิงที่ส่งเข้าเตาเผาให้คงที่ โดยใช้ระบบ SCADA ทำให้กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ามีความสม่ำเสมอ และไม่สูญเสียโอกาสในการจ่ายไฟ

4.Screw Feeder เพื่อให้ระบบป้อนเชื้อเพลิงสามารถรองรับประเภทเชื้อเพลิงแปรสภาพหรือ RDF แบบย่อยสลายได้ ซึ่งมีขนาดใหญ่ ให้สามารถแทรกไปอัดตามร่องของใบสกรูได้จึงต้องออกแบบใบสกรูให้มีขนาดเหมาะสมกับประเภทเชื้อเพลิงRDF

5.Combustion/Boiler เนื่องจากฐานของเตาเผาเป็นแบบสปริง Grate ซึ่งจะป้อนเชื้อเพลิงไปด้านหน้าเตาเพื่อให้เชื้อเพลิงตกในตำแหน่ง การเผาไหม้ที่ถูกต้อง ซึ่งสปริงดังกล่าวชำรุด ทำให้เชื้อเพลิงกระจายได้ไม่ทั่วถึง นอกจากนี้ Expansion ของเตาเกิดการรั่ว ทำให้เกิดอากาศหลุดเข้าไปในเตา ดังนั้นการปรับปรุงเตา Combustion จะทำให้การควบคุมการกระจายตัวของเชื้อเพลิงทำได้อย่างทั่วถึง ลดการสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้

6. Bottom Ash Conveyer ปัจจุบันชุดลำเลียงขี้เถ้าเกิดการเสื่อมสภาพ เช่นโซ่ลำเลียงขาดบ่อยครั้ง ทำให้ขี้เถ้าอุดตันในระบบและไม่สามารถระบายออกจากเตาได้ จึงจำเป็นต้องลดการป้อนเชื้อเพลิงบ่อยครั้งซึ่งนำไปสู่การสูญเสียกำลังการผลิตลงไป

7.Soot Blower ด้วยระบบการเผาไหม้เชื้อเพลิงในภาวะที่ไม่สมบรูณ์ ทำให้มีฝุ่นละอองเกาะตามระบบการแลกเปลี่ยนความร้อน จนทำให้ประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนความร้อนลดลงเพราะมีฝุ่นจับที่ท่อเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและรักษากำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องจึงต้องติดตั้งระบบทำความสะอาดท่อ โดยการใช้ไอน้ำที่เรียกว่า Soot blow จำนวน 12 ตัว

8.ESP เครื่องดักฝุ่นที่ใช้หลักการไฟฟ้าสถิตในการดักจับอนุภาคขนาดเล็กก่อนปล่อยสู่บรรยากาศมีประสิทธิภาพสามารถดักฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมากได้ถึง 99% ปัจจุบันประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นลดลง จึงต้องปรับปรุงระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดักฝุ่น และรักษากำลังการผลิตไฟฟ้าให้ต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ

9.Fly Ash Chain ปัจจุบันวิธีการดักจับขี้เถ้าเบา (Fly Ash) ที่ออกมากับไอเสียเผาไหม้ใช้หลักการลำเลียงฝุ่นเบาออกจากระบบปิดด้วย Rotary และลำเลียงไปยังบ่อพักขี้เถ้าด้วยรางน้ำแบบคอนกรีต โดยการฉีดน้ำให้เกิดการไหลไปยังบ่อพักปัญหาที่เกิดขึ้นคือกรณีน้ำหายไป จะทำให้เกิดการดูดอากาศภายนอกเข้าสู่ระบบ ทำให้เกิดการสูญเสียความร้อนในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเผาไหม้ที่ดีจึงเห็นสมควรให้เปลี่ยนระบบลำเลียงฝุ่นเบาเป็นแบบแห้งโดยใช้ใบกวาดแบบสกรูและใส่ในถังเก็บโดยไม่ใช้น้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง

10. Air Fan เกิดความเสียหายจึงไม่สามารถควบคุมปริมาณของลมให้เหมาะสมกับปริมาณเชื้อเพลิง และทำให้ประสิทธิภาพการเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่ดี

จากปัญหาด้านเทคนิคดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการบริษัท ไออีซี สระแก้ว 1 จำกัด จึงมีมติเห็นชอบให้บริษัทเพิ่มงบประมาณเพิ่มงบประมาณปรับปรุงเครื่องจักรโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับเชื้อเพลิงชีวมวลผสม RDF เป็นงบประมาณสุทธิ 22,785,000 บาท บริษัทคาดว่าการลงทุนดังกล่าวเป็นการนำขยะพลาสติกปนเปื้อนมารีไซเคิลช่วยในการกำจัดขยะชุมชุน โครงการสามารถรับรู้รายได้อย่างรวดเร็วและเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท โดยมีอัตราผลตอบแทนของโครงการ (IRR) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 14% และมีระยะเวลาคืนทุนของโครงการไม่ต่างจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญประมาณ 7 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ