(เพิ่มเติม) PTT ปรับโครงสร้างธุรกิจ เพิ่มความคล่องตัวบริหารจัดการ-เตรียมนำ"ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก"เข้าจดทะเบียน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 18, 2016 18:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทวันนี้ได้มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท. โดยการโอนกิจการของหน่วยธุรกิจน้ำมัน รวมถึงสินทรัพย์และหนี้สินของหน่วยธุรกิจดังกล่าว ตลอดจนหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องให้แก่ บริษัท ปตท. ธุรกิจค้าปลีก จำกัด และการเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTT Oil and Retail Business Company Limited,PTTOR)

และการให้ PTTOR เป็นบริษัทแกน (Flagship Company) ของกลุ่มปตท. ในการดำเนินธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก และแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเบื้องต้นของ PTTOR ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก และการนำ PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (การปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท.) และเห็นชอบให้ ปตท .นำเสนอการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท.ดังกล่าว ต่อหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) คณะรัฐมนตรี และที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ ปตท. เพื่อพิจารณาอนุมัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป

การปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท.ในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความชัดเจน โปร่งใสในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท.ในสายตาสาธารณชน อีกทั้งยังช่วยให้หน่วยธุรกิจน้ำมันมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน และสามารถปรับตัวกับสถานการณ์การแข่งขันที่สูงขึ้นได้ทันท่วงที

นายเทวินทร์ กล่าวยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการดูแลราคาน้ำมันขายปลีกแต่อย่างใด ซึ่งการค้าปลีกน้ำมันทุกอย่างยังเป็นไปตามกระบวนการเดิม เช่น กลไกราคา ที่ปัจจุบันราคาขายปลีกน้ำมัน และ LPG จะขึ้นลงตามกลไกราคาตลาดโลก และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยกระทรวงพลังงาน ขณะที่ปตท.จะยังคงสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทใหม่ช่วงระหว่าง 45-50%

"การปรับโครงสร้างครั้งนี้วัตถุประสงค์หลักเพี่อให้เกิดความชัดเจนในธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจน้ำมัน ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจ หรือสถานะของความเป็นรัฐวิสาหกิจ ขั้นตอนจะแยกธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจค้าปลีก เช่น อเมซอน จิฟฟี่ หลังจากนั้นจะนำบริษัทนี้เข้าจดทะเบียนในตลาด มีเป้าหมายสัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่า 50% เพื่อให้ Flagship นี้ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่ออาศัยความเป็นอำนาจรัฐในการแข่งขัน หน้าที่ความมั่นคงยังมีเหลืออยู่ ยังเก็บไว้ที่ปตท. ...การดูแลราคาน้ำมันยืนยันว่าจะยังกำกับดูแลให้เป็นธรรมกับผู้บริโภค"นายเทวินทร์ กล่าว

นายเทวินทร์ กล่าวว่า ธุรกิจที่จะถูกโอนย้ายไปยัง PTTOR จะประกอบด้วย 1.ธุรกิจน้ำมัน ได้แก่ การค้าปลีกน้ำมันผ่านสถานีบริการทั้งในและต่างประเทศ ที่ปัจจุบันปตท.มีอยู่ราว 1,400 แห่งในไทย ที่มีส่วนแบ่งตลาดราว 40% และมีอีกจำนวนหนึ่งในต่างประเทศ ,การค้าเชิงพาณิชย์น้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และเชื้อเพลิงอื่น ๆ ทั้งการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน จำหน่าย LPG ในครัวเรือนและสถานีบริการ จำหน่ายเชื้อเพลิงหล่อลื่นทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนบริหารโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจน้ำมัน ด้านการขนส่งหรือจัดเก็บ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างโอกาสทางธุรกิจที่ตอบสนองต่อลักษณะการเติบโตของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในส่วนนี้รวมถึงคลัง LPG ทั่วภูมิภาคและคลัง LPG เดิมที่เขาบ่อยา จ.ชลบุรี ส่วนคลัง LPG ส่วนขยายใหม่เพื่อรองรับการนำเข้า LPG นั้นจะไม่มีการโอนย้ายไปเนื่องจากการขยายคลังดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายภาครัฐ เพื่อรองรับการนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงนั้น

2.ธุรกิจค้าปลีกด้านอื่น ๆ และให้บริการด้านบำรุงรักษายานยนต์ จะครอบคลุมการบริหารค้าปลีกและงานขายภายใต้แบรนด์ปตท. และอื่น ๆ เช่น คาเฟ่อเมซอน ฟิตออโต้ รวมถึงริเริ่มสร้างธุรกิจใหม่เพิ่มมากขึ้น เช่น ร้านอาหาร เครื่องดื่ม แฟรนไชส์ และโรงแรม โดยในส่วนธุรกิจโรงแรมราคาประหยัดนั้น ยังอยู่ในระหว่างการคัดเลือกเชนโรงแรมในรายละเอียด ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง

นายเทวินทร์ กล่าวว่า สำหรับสินทรัพย์ที่จะไม่โอนไปยังบริษัทใหม่ จะเป็นสินทรัพย์เพื่อความมั่นคง รวมถึงสินทรัพย์ที่ได้มาโดยอำนาจรัฐ ตลอดจนการจำหน่ายน้ำมันให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ การปรับโครงสร้างครั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจน้ำมันให้มีการแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ภายหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจ PTTOR จะเป็นบริษัทแกน (Flagship Company) ในการประกอบธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกในอนาคต โดยมีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และจะดำเนินการกระจายหุ้นสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจน้ มันและค้าปลีกของบริษัทฯ ผ่านการลงทุนในหุ้นของ PTTOR

โดยรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นสามัญของPTTOR นั้น เมื่อบริษัทฯ กำหนดสัดส่วนจำนวนหุ้น IPO ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ และ/หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น (แล้วแต่กรณี) เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ทั้งนี้ในเบื้องต้น บริษัทฯ จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ PTTOR โดย ปตท. และหน่วยงานของรัฐมีนโยบายจะถือหุ้นใน PTTOR ต่ำกว่าร้อยละ 50.0 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ภายหลังจากที่มีการเสนอขายหุ้นของ PTTOR และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้ง บริษัทฯ จะกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นขั้นต่ำใน PTTOR ที่อย่างน้อยร้อยละ 45.0 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ทั้งนี้ บริษัทฯและ PTTOR จะวางแผนและกำหนดหลักเกณฑ์การกระจายหุ้นอย่างชัดเจน เพื่อให้มั่นใจว่าหุ้นของ PTTOR ในการ IPO จะกระจายไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงมากที่สุด

เนื่องจากการโอนกิจการในครั้งนี้ ถือเป็นการปรับโครงสร้างของกลุ่มกิจการภายใต้การควบคุมเดียวกัน (Under Common Control) ของบริษัทฯ ดังนั้น การโอนกิจการในครั้งนี้จึงไม่มีผลกระทบที่เป็นสาระสำคัญต่อภาพรวมของงบการเงินรวมของบริษัทฯ (ทั้งงบแสดงฐานะทางการเงินรวมและงบกำไรขาดทุนรวม)ยกเว้นค่าใช้จ่ายในการทำรายการและภาษีที่เกี่ยวข้องที่จะถือเป็นรายจ่ายในงบการเงินของบริษัทฯ

ข้อมูลเบื้องต้น ณ 30 ก.ย.59 สินทรัพย์และหนี้สินที่เกี่ยวกับหน่วยธุรกิจที่บริษัทฯจะโอนให้ PTTOR ได้แก่ มีสินทรัพย์รวม 67,776 ล้านบาท หนี้สินรวม 38,545 ล้านบาท สินทรัพย์สุทธิ 29,231 ล้านบาท

ภายหลังการรับโอนกิจการ ณ 30 ก.ย.59 จะมีสินทรัพย์รวม 86,405 ล้านบาทหนี้สินรวม 45,952 ส่วนของผู้ถือหุ้น 40,453 ล้านบาท จากสิ้นปี 58 มีสินทรัพย์รวม 83,679 ล้านบาท หนี้สินรวม 43,321 ส่วนของผู้ถือหุ้น 40,358 ล้านบาท

ส่วนงบกำไรขาดทุน หลังโอนกิจการ งวด 9 เดือนปี 59 มีรายได้ขายและบริการ 353,613 ล้านบาท กำไรสุทธิ 13,577 ล้านบาท เทียบกับปี 58 ที่มีรายได้ขายและบริการ 510,747 ล้านบาท กำไรสุทธิ 10,229 ล้านบาท

การปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท.ครั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ ได้แก่ การปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท.จะช่วยสร้างความชัดเจนในโครงสร้างของบริษัทฯ ซึ่ง PTTOR จะถูกจัดตั้งเป็นบริษัทแกน (Flagship) ในการดำเนินธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกของกลุ่มปตท. ในอนาคต โดยมีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจและสรรหาโอกาสในการเติบโตที่ชัดเจน อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลและบริหารจัดการกิจการในกลุ่มปตท.

นอกจากนี้บริษัทฯ จะนำ PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความโปร่งใส(Transparency) ในสายตาของสาธารณชนต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากจะมีการเปิดเผยข้อมูลที่มากขึ้น ซึ่งรวมถึงผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของ PTTOR

เมื่อบริษัทฯ ปรับโครงสร้างธุรกิจเรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ มีแผนจะนำ PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดย ปตท. และหน่วยงานของรัฐมีนโยบายจะถือหุ้นใน PTTOR ต่ำกว่าร้อยละ 50.0 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ภายหลังจากที่มีการเสนอขายหุ้นของ PTTOR และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯรวมทั้ง บริษัทฯ จะกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นขั้นต่ำใน PTTOR ที่อย่างน้อยร้อยละ 45.0 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วซึ่งจะทำให้ PTTOR มีสถานะเป็นบริษัทเอกชน โดยคาดว่าแผนดำเนินงานดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นตลาดทุนไทย อีกทั้งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ดึงดูดบุคลากรที่มีประสบการณ์ และความรู้ความสามารถ และแสวงหาพันธมิตรในการขยายธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกของบริษัทฯ อย่างมีประสิทธิภาพตามกลไกลการตลาด อันจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับรัฐและประเทศในรูปของภาษีเงินได้

นอกจากนี้ ศักยภาพในการดำเนินงานและขยายกิจการจะเพิ่มขึ้นเนื่องจาก PTTOR จะมีความคล่องตัวที่เพิ่มมากขึ้น ภายหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท.ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการสร้างงานสร้างอาชีพ เช่น เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการประกอบธุรกิจผ่านการให้สิทธิ Franchise

และสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจและนำพาผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล อาทิ การขยายสถานีบริการน้ำมันปตท. และสาขาธุรกิจค้าปลีกในประเทศเพื่อนบ้าน การขยายตลาดผลิตภัณฑ์หล่อลื่นสู่ตลาดโลก เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่แบรนด์ไทย และเป็นช่องทาง สำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายสู่ตลาด AEC โดยอาศัยการเปิดตลาดควบคู่ไปกับแบรนด์ ปตท. ซึ่งเป็นแบรนด์สถานีบริการน้ำมันไทยที่เริ่มได้รับความนิยมในตลาด AEC

นายเทวินทร์ กล่าวว่า สำหรับสินทรัพย์ที่จะไม่โอนไปยังบริษัทใหม่ จะเป็นสินทรัพย์เพื่อความมั่นคง รวมถึงสินทรัพย์ที่ได้มาโดยอำนาจรัฐ ตลอดจนการจำหน่ายน้ำมันให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ การปรับโครงสร้างครั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจน้ำมันให้มีการแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ปตท.จะนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และที่ประชุมผู้ถือหุ้นของปตท.เพื่อพิจารณาอนุมัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนได้ เพราะยังมีรายละเอียดอื่น ๆอีกมาก

ทั้งนี้ ธุรกิจน้ำมันนับว่ามีสัดส่วนราว 20% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของงบการเงินเฉพาะกิจการของปตท. ซึ่งแม้สินทรัพย์ของปตท.จะลดลงไปจากการโอนกิจการดังกล่าวแต่ปตท.ก็จะยังคงมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทใหม่ดังกล่าวด้วย ขณะที่พนักงานธุรกิจน้ำมันมีอยู่ราว 1,500 คน

นอกจากนี้ในด้านธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ปตท.ยังมีนโยบายชัดเจนที่จะเข้าไปมีส่วนช่วยยกระดับและพัฒนาภาคธุรกิจรายย่อยของไทย ทั้งเอสเอ็มอี และโอทอป โดยเฉพาะในโครงการประชารัฐก็ยังคงนโยบายส่งเสริมเช่นเดิม เห็นได้จากสินค้าภายใต้แบรนด์ปตท. ล้วนเกิดจากการต่อยอดผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบจากเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการในท้องถิ่น เช่น เมล็ดกาแฟ ในร้านคาเฟ่อเมซอน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ