(เพิ่มเติม) BWG เผยบ.ย่อยจะลงทุนรวม 1.46 พันลบ.รองรับทำโรงไฟฟ้าขยะอุตฯใหม่ 2 โครงการ,เซ็น PPA กฟภ.แล้ว

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 22, 2017 12:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (21 ก.พ.) อนุมัติให้บริษัทย่อยลงทุนรวม 1.46 พันล้านบาท เพื่อรองรับการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจำสวน 2 โครงการ กำลังผลิตติดตั้งรวม 11 เมกะวัตต์ พร้อมจัดตั้งบริษัท เอิร์ธ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (EEC) เพื่อประกอบธุรกิจให้บริการรองรับการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว

BWG ระบุว่าตามที่บริษัท รีคัฟเวอรี่ เฮ้าส์ จำกัด (RH) และบริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (AVA) ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทย่อยของบมจ.เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (ETC) ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 60% นั้น ได้ผ่านการคัดเลือกในโครงการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม

ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทจึงอนุมัติการลงุทนในโครงการดังต่อไปนี้ ได้แก่ การลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา กำลังผลิตติดตั้ง 7 เมกะวัตต์ มูลค่าไม่เกิน 900 ล้านบาท ของ RH , การลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ในนิคมอุตสาหกรรมพิจิตร จ.พิจิตร กำลังผลิตติดตั้ง 4 เมกะวัตต์ มูลค่าไม่เกิน 550 ล้านบาท โดยทั้งสองโครงการคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในไตรมาส 2/60 และมีกำหนดแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4/61

นอกจากนี้ให้ตั้งบริษัท เอิร์ธ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด สำหรับการประกอบธุรกิจให้บริการด้านออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแบบครบวงจร ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ซึ่ง ETC จะถือหุ้น 96%

นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ของ BWG กล่าวว่า วันนี้ (22 ก.พ.) ทั้ง RH และ AVA ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แล้ว ส่งผลให้บริษัทมี PPA ในมือแล้วถึง 20.4 เมกะวัตต์ จาก 3 โครงการ ซึ่งนอกเหนือจาก 2 โครงการล่าสุด บริษัทยังมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม โครงการแรก ขนาด 9.4 เมกะวัตต์ และขนาดกำลังการผลิตเสนอขาย 8.0 เมกะวัตต์ ของ ETC โดยตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย จ.สระบุรี

"โครงการใหม่ทั้งสองโครงการพร้อมจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างทันที เพราะเรามีประสบการณ์ตรงจากการก่อสร้างโครงการของ ETC ทำให้เราทำงานได้รวดเร็วขึ้น ตลอดจนมีทีมวิศวกรชำนาญการไฟฟ้าที่มีประสบการณ์เป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้งานต่าง ๆ แม่นยำถูกต้องใช้เวลาน้อยลง ส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันสามารถพัฒนาเชื้อเพลิงจากกากอุตสาหกรรมจนอยู่ในระดับที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทนี้ หลังจากที่ใช้เวลาพัฒนาต่อเนื่องมานานกว่า 2 ปี และหลังจากที่เราเปิดเฟสการผลิตที่ 2 ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI แล้ว ทำให้ปัจจุบันมีกำลังการผลิตสูงถึง 600 ตัน/วัน สามารถรองรับโรงไฟฟ้าได้อย่างคล่องตัว โดยคาดว่าโรงไฟฟ้าทั้งสองโครงการจะก่อสร้างและพร้อมผลิตได้ภายในปี 62 ตามกำหนดที่วางไว้"นายสุวัฒน์ กล่าว

นายสุวัฒน์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะเห็นการขยายธุรกิจด้านพลังงานของบริษัทเด่นชัดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าจากกากอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ทั้งโครงการศึกษาและพัฒนาโครงการร่วมกับพันธมิตรที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และการลงทุนด้วยตัวเองผ่านบริษัทย่อย ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการลงทุนในโครงการก่อนหน้านี้ และโครงการด้านพลังงานที่มีศักยภาพอื่น ๆ ในอนาคต

ส่วนการจัดตั้งบริษัทใหม่ EEC เพื่อดูแลธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าเต็มตัวนั้น ก็เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น หลังจากที่โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากอุตสาหกรรมของภาครัฐกำลังจะเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้าง ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถรับรู้รายได้ทันทีตั้งแต่โครงการเริ่มการก่อสร้าง ต่อเนื่องไปจนถึงส่งมอบโครงการ และเชื่อมโยงไปสู่การรับรู้รายได้จากการขายไฟในที่สุด ถือเป็นการประกอบธุรกิจและรับรู้รายได้อย่างครบวงจร ซึ่งจะสนับสนุนให้บริษัทมีรายได้จากธุรกิจพลังงานอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตอันใกล้นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ