(เพิ่มเติม) JMT ซื้อหนี้ด้อยคุณภาพจากธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) 6.55 พันลบ.,มั่นใจรายได้-กำไรปีนี้โตโดดเด่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 23, 2017 16:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) แจ้งว่าเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ลงนามในสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ด้อยคุณภาพ ของสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) โดยสัญญามีมูลค่าหนี้คงค้างตามสิทธิเท่ากับ 6,547 ล้านบาท

นายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ JMT กล่าวว่า การลงนามซื้อหนี้ด้อยคุณภาพ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ครั้งนี้นับเป็นหนี้ก้อนใหญ่และมีคุณภาพดี เป็นหนี้ค้างชำระ 6 เดือนขึ้นไป โดยหลังจากนี้ทางธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) มีข้อตกลงล่วงหน้าจะทยอยส่งมอบบัญชีหนี้ด้อยคุณภาพให้ JMT ต่อเนื่องอีก ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนรายได้ของ JMT ปีนี้ให้มั่นคงแข็งแกร่ง

สำหรับภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบ มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพบว่าหนี้ที่ถูกตัดขายออกมามีคุณภาพมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของ JMT ในการเดินหน้าซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารเพิ่ม ตั้งเป้างบลงทุนในปี 60 ไว้ที่ 1,560 ล้านบาทรองรับการเข้าซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารเพิ่มอีก 3-5 หมื่นล้านบาท จากปี 59 ที่รับซื้อหนี้เสียมาเพียง 2 หมื่นล้านบาท และทำให้สิ้นปี 59 มีพอร์ตบริหารหนี้แตะ 1.1 แสนล้านบาท

ดังนั้น บริษัทจึงมั่นใจว่าผลประกอบการทั้งรายได้และกำไรในปีนี้จะเติบโตอย่างโดดเด่น โดยวางเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 30% จากปีก่อน

“มองว่าหนี้ NPL ในระบบถูกสะสมมาเรื่อย ๆ จากสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่เร่งปล่อยสินเชื่อในไตรมาส 3-4 ปีที่ผ่านมา จะเริ่มดันหนี้เสียในระบบแตกออกมาในไตรมาส 2 ปีนี้เป็นต้นไป เราจึงตั้งเป้าซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารในปีนี้เพิ่มเป็น 3 หมื่นล้านบาท หรืออาจซื้อได้มากถึง 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงจากปี 59 JMT ตั้งเป้าซื้อหนี้เพียง 2 หมื่นล้านบาท"นายปิยะ กล่าว

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุก่อนหน้านี้ว่า ภาพรวม NPL ทั้งระบบสถาบันการเงินมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 4/59 อยู่ที่ 2.82% คาดว่าไตรมาสแรกปีนี้ NPL ไต่ระดับขึ้นมาอยู่ที่ 2.9% และจะเห็น NPL ขึ้นระดับสูงสุดในไตรมาส 3/60 ที่ระดับ 3.01% ด้วยมูลค่ารวม 4.3 แสนล้านบาท จากไตรมาส 3/59 อยู่ที่ 3.9 แสนล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานเศรษฐกิจต้องขยายตัวต่อเนื่องจึงจะสามารถประคองไม่ให้สถานการณ์ NPL ทั้งระบบทรุดตัวลง แต่หากภาวะเศรษฐกิจไม่ดีขึ้นก็มีโอกาสที่ NPL จะเพิ่มขึ้นจากสมมติฐานได้

หากพิจารณาแนวโน้มการตัดขายหนี้เสียของสถาบันการเงินให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ต่าง ๆ เชื่อว่า ปีนี้สถานการณ์การขายหนี้เสียไม่น่าจะต่ำกว่าปี 59 ที่ธนาคารนำหนี้เสียออกมาประมูลขายราว 5 หมื่นล้านบาท เพราะยังต้องบริหารหนี้ในเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าที่คาดว่าจะนำหนี้ออกมาประมูลขายใกล้เคียงกับปีก่อนที่ราว 5 หมื่นล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ