BEM คาดใช้เงินลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย 2.2 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 29, 2017 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางพเยาว์ มริตตะพร กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้บริษัทลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย โดยเข้าทำสัญญาสัมปทานกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระยะเวลาสัมปทาน 33 ปี มูลค่าการลงทุนในโครงการดังกล่าวเป็นเงิน 22,036 ล้านบาท

บริษัทจะใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และ/หรือ แหล่งเงินทุนจากภายนอก โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการจัดหาเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และ/หรือบริษัท อาจพิจารณาออกหุ้นกู้เพื่อรองรับการดำเนินโครงการ

สินทรัพย์ที่ได้มาในกรณีนี้ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งมีแนวเส้นทางเชื่อมต่อจากโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ที่สถานีบางซื่อและสถานีหัวลำโพง แบ่งเป็น 2 ช่วง ระยะทางรวม 27 กม.ดังนี้

1.ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง ระยะทางประมาณ 14 กม.

2.ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทางประมาณ 13 กม.

ทั้งนี้ สาระสำคัญของสัญญาสัมปทานดังกล่าว คือ บริษัทมีหน้าที่ดำเนินการจัดหาติดตั้งและทดสอบอุปกรณ์งานระบบสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ดำเนินการให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายให้เป็นการเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) และบริษัทมีสิทธิในรายได้ค่าโดยสารและสิทธิในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ตลอดอายุสัมปทาน โดยบริษัทเป็นผู้รับภาระในการลงทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมดตลอดระยะเวลาสัมปทาน และแบ่งตอบแทนหรือให้ผลประโยชน์แก่รฟม.ตามที่ได้ตกลงกันในสัญญา

ระยะเวลาสัญญาสัมปทาน 33 ปี นับจากวันที่ รฟม.แจ้งให้เริ่มงาน โดยระยะที่ 1 การจัดหาติดตั้ง ทดสอบ อุปกรณ์งานระบบสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และทดลองเดินรถไฟฟ้า โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 36 เดือน นับจากวันที่รฟม.แจ้งให้เริ่มงาน และระยะที่ 2 การดำเนินการและบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากว้นที่เริ่มการบริการ ที่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งสายสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

บริษัทคาดว่าจะเปิดให้บริการเป็นช่วงที่ 1 สถานีบางซื่อ-สถานีเตาปูน ภายใน 6 เดือน , ช่วงที่ 2 สถานีหัวลำโพง-สถานีหลักสอง ภายใน 30 เดือน และ ช่วงที่ 3 สถานีเตาปูน-สถานีท่าพระ ภายใน 36 เดือน ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทมาจากการจัดเก็บค่าโดยสาร โดยอัตราค่าโดยสารและการปรับอัตราค่าโดยสาร ใช้โครงสร้างตามสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล และรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์

ส่วนการแบ่งผลประโยชน์ให้ รฟม. โดยส่วนที่ 1 ตามสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล

ส่วนที่ 2 โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายและภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ซึ่งบริษัทได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน (EIRR) ในปีใดเกิน 9.75% แต่ไม่เกิน 11.0% บริษัทจะแบ่งผลประโยชน์ในปีนั้นให้ รฟม. ในอัตรา 50% ของกระแสเงินสดสุทธิส่วนที่ให้อัตราผลตอบแทนจาdการลงทุนเกินกว่า 9.75% แต่ไม่เกิน 11.0%

และหากบริษัทได้รับผลตอบแทนการลงทุนในปีใดเกินกว่า 11.0% แต่ไม่เกิน 15.0% บริษัทจะแบ่งผลประโยชน์ในปีนั้นให้ รฟม. ในอัตรา 60% ของกระแสเงินสดสุทธิส่วนที่ให้อัตราผลตอบแทนจาการลงทุนเกินกว่า 11.0% แต่ไม่เกิน 15.0% และหากบริษัทได้รับผลตอบแทนการลงทุนในปีใดเกินกว่า 15% บริษัทจะแบ่งผลประโยชน์ในปีนั้นให้ รฟม. ในอัตรา 75% ของกระแสเงินสดสุทธิส่วนที่ให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเกินกว่า 15.0%

ผลประโยชน์จากการลงทุนโครงการนี้ เพื่อเพิ่มความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล ระยะเวลาสัมปทาน 25 ปี จะครบกำหนดในปี 72 และสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ระยะเวลาสัญญา 30 ปี จะครบกำหนดในปี 86 ดังนั้น การลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายซึ่งมีระยะเวลาสัมปทาน 33 ปี จึงเป็นโอกาสที่ทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจระบบรางไปได้อย่างต่เนื่องจากปี 60-93

บริษัทสามารถให้บริการเดินรถไฟฟ้าในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งสายทาง ซึ่งจะเป็นการขยายเส้นทางและเชื่อมโยงโครงข่ายการให้บริการของโครงการรถไฟฟ้าและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ ทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกและประหยัดเวลา และยังสามารถนำผู้โดยสารเข้าสู่กรุงเทพชั้นในและกระจายออกนอกเมืองไปจรัญสนิทวงศ์ บางแค ได้ นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อการเดินทางกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางจากกรุงเทพชั้นนอก ย่านนนทบุรีเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพ โดยเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้าที่สถานีเตาปูนเพื่อเข้าสู่โครงการระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้ทั้ง 2 ทิศทางซึ่งครอบคลุมพื้นที่การให้บริการที่กว้างขวางมากขึ้น ทำให้การเดินทางระหว่างชานเมืองกรุงเทพ และกรุงเทพชั้นในเป็นไปได้โดยสะดวก

นอกจากนี้ เพิ่มจำนวนผู้โดยสารและรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าที่บริษัทบริหารอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เขื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล เป็นโครงข่ายเดียวกันตลอดสาย ส่งผลให้โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคลที่บริษัท บริหารอยู่ในปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารมาใช้บริการเพิ่มขึ้น ตลอดจนการหมุนเวียนการเดินทางของผู้โดยสารที่ได้รับความสะดวกจากการเชื่อมโยงโครงข่ายการให้บริการ ส่งผลให้บริษัทมีรายได้และกระแสเงินสดเพิ่มมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ รฟม.ได้กำหนดงานพิธีลงนามสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ระหว่างรฟม.กับ BEM ในวันที่ 31 มี.ค.นี้ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ