(แก้ไข) BCPG จะซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพในอินโดฯ 33.33% ราคาไม่เกิน 357.5 ล้านเหรียญฯ คาดแล้วเสร็จ Q2/60

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 26, 2017 12:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บีซีพีจี (BCPG) แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (25 เม.ย.) อนุมัติให้เข้าซื้อหุ้น 33.33% ในบริษัท สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (SEGHPL) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย โดยมีมูลค่าการลงทุนไม่เกิน 357.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.23 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/60 และจะสามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนได้ทันที

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ BCPG กล่าวว่า การเข้าลงทุนครั้งนี้จะทำให้บริษัทมีการลงทุนทางอ้อมในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซียรวม 3 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 182 เมกะวัตต์ผ่านการซื้อหุ้นใน SEGHPL ที่เป็นผู้ลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้ากำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำรวมเทียบเท่า 995 เมกะวัตต์

ทั้ง 3 โครงการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำที่ผลิตได้ให้แก่การไฟฟ้าอินโดนีเซีย (PLN) ภายใต้สัญญารับซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาว ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ วายาง วินดู (Wayang Windu) กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 347 เมกะวัตต์ โดยเปิดดำเนินการแล้ว 227 เมกะวัตต์ ขณะที่ BCPG จะเข้าถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 20%

ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ Salak กำลังผลิตไฟฟ้าและไอน้ำรวมเทียบเท่า 377 เมกะวัตต์ โดย BCPG จะเข้าถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 17.3% และโรงไฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ Darajat มีกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำรวมเทียบเท่า 271 เมกะวัตต์ BCPG ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 17.3% ซึ่งทั้งโรงไฟฟ้า Salak และ โรงไฟฟ้ำ Darajat ได้เปิดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วทั้งหมด

ทั้งนี้ บริษัทจะจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2560 ในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติการเข้าซื้อหุ้นต่อไป โดยคาดว่าการซื้อขายหุ้นดังกล่าวจะเสร็จสิ้นในไตรมาส 2/60 และจะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรได้ทันที

"บริษัทมั่นใจว่าการลงทุนครั้งนี้ จะเป็นผลดีต่อความมั่นคงของบริษัทในระยะยาว สอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโตในการขยายธุรกิจไปยังพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น ๆ ครอบคลุมภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก เพิ่มเติมจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในประเทศไทย ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์"นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า การลงทุนครั้งนี้จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้นกว่า 600 เมกะวัตต์ แต่ถ้าเทียบเงินลงทุนและความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพที่เป็น 3 เท่าของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ก็จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเทียบเท่ากับพลังงานแสงอาทิตย์รวมเกือบ 1,000 เมกะวัตต์

ก่อนหน้านี้ BCPG ตั้งเป้าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเทียบเท่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ระดับ 1,000 เมกะวัตต์ในภายในปี 63

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ บริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับผู้ขายหุ้นใน SEGHPL คือ บริษัท สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ อินเวสท์เมนท์ จำกัด ซึ่งถือหุ้นใน SEGHPL จำนวน 59.54% ซึ่งภายหลังการจำหน่ายหุ้นให้กับบริษัทแล้ว จะยังคงเหลือการถือหุ้นในสัดส่วน 26.21% ขณะที่บริษัท เอสอี โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมของผู้ขาย จะยังคงสถานะเป็นผู้ถือหุ้นใน SEGHPL ในสัดส่วน 40.46%

สำหรับ SEGHPL เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งประกอบกิจการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยการเข้าซื้อหุ้นใน SEGHPL ครั้งนี้ เพื่อการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ วายาง วินดู (Wayang Windu) โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ Salak และโรงไฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ Darajat

นอกจากนี้ SEGHPL ยังมีธุรกิจสำรวจและขุดเจาะน้ำมันและแก๊ส โดยถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ ออยล์ แอนด์ ก๊าซ จำกัด (SEOG) ซึ่งจะถูกปรับโครงสร้าง โดย SEGHPL จะขายให้แก่บริษัทในเครือนอกกลุ่ม SEGHPL ของผู้ขาย โดยผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างทั้งหมด ดังนั้น สินทรัพย์ที่บริษัทจะเข้าลงทุนจึงมีเพียงกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพเท่านั้น

BCPG ระบุว่าการเข้าลงทุนครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มรายได้ และการกระจายความเสี่ยงของรายได้จากการดำเนินธุรกิจ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้สม่ำเสมอ 24 ชั่วโมง/วัน ทำให้สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งมีผลการดำเนินงานในอดีตที่ดี ตลอดจนยังเป็นการสร้างโอกาสในการขยายการลงทุนให้แก่บริษัท ในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอีกมาก และยังสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังโครงการอื่น ๆ ในภายภาคหน้าจากการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับกลุ่มสตาร์ เอ็นเนอร์ยี่

สำหรับแหล่งเงินลงทุนที่จะใช้ในการลงทุนครั้งนี้จะมาจากเงินกู้สถาบันการเงิน และกระแสเงินสดภายในบริษัท โดยอยู่ระหว่างการคัดเลือกและเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงิน

ด้าน บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ระบุว่าการเข้าทำรายการดังกล่าวของ BCPG เข้าข่ายเป็นการทำรายการของบริษัทด้วย ซึ่งจะมีการนำเสนอให้แก่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทให้พิจารณาในวันที่ 27 เม.ย.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ