(เพิ่มเติม) BCP-KSL จับธุรกิจชีวภาพ-เอทานอลควบรวมพร้อมเข้าถือหุ้น 60:40 คาดส่งเข้าตลาดหุ้นใน Q4/61

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 20, 2017 11:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (19 ก.ค.) อนุมัติการควบรวมบริษัท (Amalgamation) ระหว่างบริษัท บีบีพี โฮลดิ้ง จำกัด (BBH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทำธุรกิจชีวภาพ กับบริษัท เคเอสแอลจีไอ จำกัด (KSLGI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) จะจัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อรับโอน และเข้าถือหุ้น 99.99% ในบมจ.เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น ซึ่งทำธุรกิจเอทานอล

ทั้งนี้ การควบรวมดังกล่าวจะทำให้กิดบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (BBGI) ซึ่ง BCP จะถือหุ้นในบริษัทใหม่ดังกล่าวสัดส่วน 60% และ KSL ถือหุ้นในสัดส่วน 40% เบื้องต้นคาดว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จในเดือนต.ค.60 ก่อนผลักดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งคาดว่าอาจจะดำเนินการได้ช่วงไตรมาส 4/61

บริษัทใหม่จะเป็นบริษัทหลัก (flagship company) ที่ BCP และ KSL ประสงค์จะให้ประกอบธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio Based) ได้แก่ เอทานอลและไบโอดีเซล (B100) โดยการควบรวมดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลดีต่อ BCP และผู้ถือหุ้นในระยะยาวในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และเป็นการสร้างศักยภาพและความได้เปรียบทางธุรกิจ ตลอดจนเพิ่มโอกาสการขยายธุรกิจดังกล่าวในอนาคตผ่านบริษัทใหม่

สำหรับ BBH ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท บางจากไบโอเอทานอล (ฉะเชิงเทรา) จำกัด (BBE) ซึ่ง BBH ถือหุ้น 84.99%, บริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด (BBF) ถือหุ้น 70% และบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (UBE) ถือหุ้น 21.28%

ขณะที่ KSLGI เมื่อรับโอนหุ้นจาก บมจ.เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น แล้ว ก็จะทำให้เป็นผู้ผลิตเอทานอลทั้งหมดของ KSL ซึ่ง ณ วันควบรวมบริษัทใหม่ จะทำให้เป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งได้แก่ เอทานอล และ B100 ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ด้วยกำลังการผลิตรวม 1.71 ล้านลิตร/วัน แบ่งเป็น กำลังการผลิตเอทานอล 9 แสนลิตร/วัน และ B100 จำนวน 8.1 แสนลิตร/วัน

การควบรวมบริษัทระหว่าง BBH กับ KSLGI ถือเป็นการเสริมสร้างศักยภาพและสร้างความแข็งแกร่งด้านธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เนื่องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ๋ของบริษัทใหม่ คือ BCP และ KSL มีลักษณะการดำเนินธุรกิจที่สนับสนุนทั้งด้านวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์จากการควบบริษัท (Synergy) รวมทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสเติบโตในอนาคต

ขณะที่ KSL ได้แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (19 ก.ค.) อนุมัติการยกเลิกการนำ บมจ.เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งอนุมัติจัดตั้งบริษัทย่อยใหม่ KSLGI เพื่อเข้ารับโอนธุรกิจของ เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น หลังจากนั้นให้นำ KSLGI เข้าควบรวมกับ BBH

KSL และ BCP ได้ตกลงร่วมกันในหลักการว่าภายหลังจากการดำเนินการควบรวมบริษัทแล้วเสร็จ ในกรณีที่บริษัทใหม่ดำเนินการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) เพื่อนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของไทยนั้น หากมีการพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนหนึ่งเพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย จะเป็นการจัดสรรตามสัดส่วนการถือหุ้นที่แต่ละฝ่ายถือในบริษัทใหม่ในวันควบบริษัท (Pre-emptive right)

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ BCP กล่าวว่า สำหรับการร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ได้แก่ เอทานอล และ B100 ครั้งนี้ ได้มีการลงนามในสัญญาการควบบริษัทเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา และประมาณเดือนต.ค.นี้ ก็จะใช้ชื่อบริษัทใหม่ว่า บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (BBGI) มีทุนจดทะเบียน 2.53 พันล้านบาท โดยจะเป็นบริษัทหลัก ที่มีบางจากฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 60% และ KSL ถือหุ้นในสัดส่วน 40%

ขณะที่นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ KSL กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า การนำบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงไตรมาส 4/61 โดยการควบรวมครั้งนี้ เชื่อว่าจะส่งผลต่อภาพรวมของธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีหลักประกันของบริษัทที่รับซื้อผลิตภัณฑ์โดยตรง เพราะเบื้องต้นบางจากฯจะรับซื้อผลิตภัณฑ์ไม่ต่ำกว่า 50% อีกทั้งการที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของตลาดก็จะทำให้มีโอกาสสูงมากกว่าคู่แข่งขันรายอื่นด้วย

"เราเชื่อว่าการควบรวมจะดีขึ้นกว่าอยู่ standalone กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเยอะ และผลพลอยได้ซึ่งเป็นของเหลือใช้อย่างอื่นก็จะสามารถสร้าง value added ได้ดีขึ้น บางจากฯมีความเชี่ยวชาญเรื่องไบโอดีเซล ส่วนเรามีความเชี่ยวชาญโรงงานเอทานอล ก็จะเข้าไปช่วยปรับปรุงโรงงานเอทานอลของบางจากฯให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น บริษัทใหม่ก็จะมีครบทั้ง 2 ขา ทั้งเอทานอลและไบโอดีเซล และโรงงานเอทานอลก็สามารถใช้วัตถุดิบได้ทั้งจากน้ำตาลและมันสำปะหลัง ซึ่งเรามีครบ ก็น่าจะดีกว่าการนำหุ้นเข้าตลาดฯคนเดียว"นายชลัช กล่าว

นายชลัช กล่าวว่า หลังจากการควบรวมเป็นบริษัทใหม่แล้วเสร็จประมาณปลายเดือนต.ค.นี้ ก็จะสามารถเริ่มกระบวนการทำรายละเอียดการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และน่าจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี หรือในราวไตรมาส 4/61 ซึ่งการระดมทุนเพื่อรองรับการขยายงานในอนาคตมีเป้าหมายจะขยายกำลังการผลิตเอทานอลให้มีระดับ 1 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ไบโอดีเซล ล่าสุดทางบางจากฯเพิ่งขยายกำลังการผลิตไบโอดีเซลแล้วเสร็จมาที่ระดับ 8.1 แสนลิตร/วัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ