SIM จะร่วมเป็นพันธมิตรกับกสท ให้บริการวิทยุคมนาคมระบบดิจิตอล ใช้เงินลงทุน 2.37 พันลบ.,พร้อมเพิ่มทุนขาย RO แถมวอร์แรนต์

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 16, 2017 08:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.สามารถ ไอ-โมบาย (SIM) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติในหลักการให้บริษัท และบริษัท สามารถคอมมิวนิเคชั่นเซอร์วิส จำกัด เข้าลงนามในสัญญาความร่วมมือพันธมิตรธุรกิจเพื่อขยายขีดความสามารถในการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบดิจิตอล (Digital Trunked Radio System:DTRS) กับบมจ.กสท โทรคมนาคม (กสท)

โดยมีสาระสำคัญคือ บริษัท และบริษัท สามารถคอมมิวนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (ต่อไปนี้รวมเรียกว่า เอสไอเอสซี คอนซอร์เตียม) ซึ่งต่างเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาโครงข่าย และให้บริการสนับสนุนทั้งแก่กลุ่มลูกค้าเอกชน รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานราชการ รวมทั้งเป็นผู้นำด้านเครื่องลูกข่ายและช่องทางการขาย ตกลงรับจัดหา และติดตั้งอุปกรณ์โครงข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิตอล (DTRS) โดยใช้เทคโนโลยี TETRA (โครงข่าย DTRS) ตามแผนงานพัฒนาโครงข่ายการให้บริการ DTRS ที่เอสไอเอสซี คอนซอร์เตียม จะได้มีการตกลงกันกับกสท ต่อไป เพื่อขยายขีดความสามารถในการให้บริการโครงข่าย DTRS ของกสท เพื่อให้ กสท สามารถรองรับการใช้งานของผู้ใช้บริการในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้งานได้อย่างเพียงพอ

และเมื่อ เอสไอเอสซี คอนซอร์เตียม ได้ติดตั้งอุปกรณ์โครงข่าย DTRS แล้ว เอสไอเอสซี คอนซอร์เตียม ก็จะให้บริการ (ทั้งบริการด้านเทคนิคและบริการด้านธุรกิจ) แก่ กสท ตามอัตราค่าบริการที่ตกลงกัน โดย กสท สามารถนำคลื่นความถี่ย่าน 800 MHz ที่ กสท ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาใช้กับอุปกรณ์โครงข่าย DTRS เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้บริการต่อไป

การตกลงเข้าร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ กสท เพื่อขยายขีดความสามารถในการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบดิจิตอล ดังกล่าว มีมูลค่าเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 2,368 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะทยอยลงทุนในอุปกรณ์โครงข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิตอล โดยใช้เวลาประมาณ 2 ปี ในเบื้องต้น บริษัทคาดว่าเงินลงทุนตามแผนการดำเนินการตามสัญญาความร่วมมือพันธมิตรทางธุรกิจจะมาจากแหล่งเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และเงินเพิ่มทุนจากการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering:RO)

บริษัทคาดว่าสัญญาความร่วมมือพันธมิตรทางธุรกิจกับ กสท จะมีการลงนามโดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย (กล่าวคือ กสท และเอสไอเอสซี คอนซอร์เตียม) ภายในเดือนสิงหาคม 2560 และบริษัทจะเริ่มลงทุนติดตั้งอุปกรณ์โครงข่าย DTRS ภายหลังจากการลงนามในสัญญาและเริ่มให้บริการภายใต้สัญญาความร่วมมือพันธมิตรทางธุรกิจได้ภายในช่วงไตรมาสที่ 1/61

บริษัทมีหน้าที่ต้องลงทุนและติดตั้งอุปกรณ์โครงข่าย DTRS ตามแผนการดำเนินการดังกล่าว เพื่อการให้บริการโครงข่าย DTRS แก่ กสท และได้รับค่าตอบแทนจากการให้บริการโครงข่าย DTRS จาก กสท ตามสัญญาความร่วมมือพันธมิตรทางธุรกิจเป็นรายเดือนตลอดอายุสัญญาจนถึงวันที่ 31 กรกฏาคม 2568 รวมค่าบริการทั้งสิ้นประมาณ 5,925 ล้านบาท (อนึ่ง จากเงินค่าบริการทั้งสิ้นประมาณ 5,925 ล้านบาท บริษัทคาดว่าบริษัทต้องชำระให้แก่บริษัท สามารถคอมมิวนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด ซึ่งจะทำหน้าที่สำรวจ ออกแบบ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ และให้บริการบำรุงรักษาโครงข่าย DTRS ตลอดอายุสัญญาความร่วมมือพันธมิตรทางธุรกิจ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 316 ล้านบาท)

ทั้งนี้ บริษัท สามารถคอมมิวนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คนเดียวกันกับบริษัท คือ บมจ. สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART)

ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการเข้าทำสัญญาความร่วมมือพันธมิตรทางธุรกิจกับ กสท มีระยะเวลาของสัญญาประมาณ 8 ปี จะทำให้บริษัทมีรายได้ค่าบริการโครงข่าย DTRS อย่างต่อเนื่องถึงปี 2568 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญาความร่วมมือพันธมิตรทางธุรกิจกับ กสท และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว หากต่อมา กสท ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่จากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการให้บริการ DTRS กสท บริษัท และบริษัท สามารถคอมมิวนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด ตกลงให้สัญญาฉบับนี้มีผลต่อไปภายใต้ข้อตกลงและเงื่อนไขเดิมทุกประการ จนกระทั่งใบอนุญาตที่ กสท ได้รับจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ใช้คลื่นความถี่สาหรับการให้บริการ DTRS สิ้นสุดลง

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มแหล่งที่มาของรายได้ให้แก่บริษัท โดยบริษัทประมาณการผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการดังกล่าว รวมทั้ง บริษัทมีโอกาสมีรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายเครื่องลูกข่ายให้กับผู้ใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบดิจิตอล

อีกทั้ง บริษัทมีโอกาสมีรายได้เพิ่มจากการเป็นผู้ให้บริการเสมือน (MVNO) ของ กสท สำหรับการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบดิจิตอลให้แก่ผู้ใช้บริการเป็นการทั่วไป ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้แก่บริษัท หรือกลุ่มบริษัทในอนาคต

พร้อมกันนี้คณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท จำนวน 550,031,250 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 440,025,000 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 990,056,250 บาท โดยการออกหุ้นสามัญจำนวน 5,500,312,500 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท โดยจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 4,400,250,000 หุ้น เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้น ในอัตราการจัดสรรหุ้น 1 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ในราคาหุ้นละ 0.50 บาท โดยกำหนดวันจองซื้อและชำระค่าหุ้นในระหว่างวันที่ 30 ต.ค.- 3 พ.ย.60

ส่วนหุ้นเพิ่มทุนที่เหลือไม่เกิน 1,100,062,500 หุ้น จะจัดสรรรองรับการใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ครั้งที่ 1 (SIM-W1) ที่จะออกจำนวนไม่เกิน 1,100,062,500 หน่วย อายุ 5 ปี จัดสรรให้ฟรีแก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนในอัตราส่วน 4 หุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ต่อใบสาคัญแสดงสิทธิ SIM-W1 จำนวน 1 หน่วย โดยมีอัตราการใช้สิทธิ SIM-W1 จำนวน 1 หน่วย ต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาใช้สิทธิเท่ากับ 0.90 บาท/หุ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เห็นชอบให้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัท และเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัท ดังนี้ชื่อใหม่เป็น บมจ.สามารถ ดิจิตอล เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและอนาคตของบริษัท

บริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ไปใช้ลงทุนในโครงการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบดิจิตอล ตามสัญญาความร่วมมือพันธมิตรธุรกิจกับ กสท และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว รวมถึงเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนสาหรับโครงการ Digital Trunked Radio System และเพื่อรองรับโครงการลงทุนในอนาคตและเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั่วไป ซึ่งรวมถึงเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท รวมถึงปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัท

ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญพร้อมใบสำคัญแสดงสิทธิฯ SIM-W1 ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในครั้งนี้ และมีการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิฯ SIM-W1 ทั้งจำนวนแล้ว จะมีผลกระทบด้านลดลงของราคา (Price Dilution) เท่ากับร้อยละ 23.0

บริษัทดำเนินการเพิ่มทุน เพื่อปรับโครงสร้างทางการเงิน ชำระหนี้ และนำไปใช้สำหรับลงทุนเพิ่มเติมของบริษัทและขยายต่อยอดไปยังธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมของบริษัท ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีโอกาสในการเพิ่มรายได้และกาไรจากการดำเนินงานในอนาคต และผู้ถือหุ้นมีโอกาสจะได้รับเงินปันผลจากการดำเนินงานของบริษัท

ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิตามงบการเงินรวมหลังหักเงินสำรองต่าง ๆ ทุกประเภทตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัท และตามกฎหมาย ผู้จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering)ในการเพิ่มทุนครั้งนี้ จะมีสิทธิได้รับเงินปันผลจากการดำเนินงานของบริษัทนับแต่ที่ผู้จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้รับการจดทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะได้รับเงินปันผลตามสัดส่วนการถือหุ้นเมื่อบริษัทมีการประกาศจ่ายปันผล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ