DNA แจงอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างกลุ่ม พร้อมมองหาธุรกิจใหม่เพิ่ม คาดชัดเจนภายในปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 5, 2017 09:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ดีเอ็นเอ 2002 (DNA) แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯสอบถาม โดยในส่วนของการดำเนินธุรกิจนั้นบริษัทยังคงมองหาธุรกิจใหม่ที่ก่อให้เกิดรายได้และประโยชน์ต่อภาพรวมของกลุ่มบริษัท ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดโครงสร้างกลุ่มบริษัทให้ชัดเจนและพยายามจัดหาธุรกิจเพื่อมาดำเนินงานด้วยตนเองในบริษัท ซึ่งคาดว่าจะสามารถรายงานความคืบหน้าและชัดเจนถึงแนวทางของบริษัทรวมถึงรูปแบบการดำเนินงานของตัวบริษัทได้ภายในปี 2560 อย่างไรก็ตามปัจจุบันรายได้หลักของกลุ่มบริษัทมาจากกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและการจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่

ส่วนนโยบายการลงทุนในบริษัท บัน จำกัด (BUN) นั้น ก่อนหน้านี้บริษัทไม่สามารถจำหน่ายเงินลงทุนให้แก่นายชาญวิทย์ บรรณสารตระกูลได้ จึงทำให้บริษัทยังต้องรับภาระในฐานะผู้ถือหุ้นที่จะต้องหาเงินลงทุนเพิ่มเติมสำหรับการดำเนินธุรกิจของ BUN ต่อไป ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการขยายส่วนงานการผลิตและย้ายโรงงานการผลิตอาหาร อีกทั้งในปัจจุบันบริษัทไม่มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการลงทุนเพิ่มเติมสำหรับการซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน BUN ดังนั้น นายประสิทธิ์ ศรีรุ่งธรรม ผู้ถือหุ้นเดิมของ BUN จึงเข้ามาลงทุนเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องของธุรกิจเอง โดยการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทในสัดส่วนที่บริษัทมีสิทธิ์ในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน และในส่วนเดิมที่นายประสิทธิ์ถือครองอยู่เอง ดังนั้น บริษัทจึงมีความประสงค์ที่จะสละสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวนั้น

การสละสิทธิ์จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน BUN จะช่วยลดความเสี่ยงของบริษัทจากการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตของกลุ่มธุรกิจอาหาร เนื่องจากผลประกอบการของ BUN ยังไม่สะท้อนผลกำไรออกมาอย่างชัดเจน และสามารถลดภาระบางส่วนในการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ แก่ BUN เช่น ลงการลงทุน สำหรับการเพิ่มทุนใน BUN ของบริษัทตามสัดส่วนที่ลดลง การช่วยจัดหาแหล่งเงินทุน หรือการให้กู้ยืมเงิน เป็นต้น

สำหรับการให้เงินกู้ยืมระยะสั้นแก่บริษัท ดิจิตอล ซินเนอร์จี จำกัด (DGT) ซึ่งเป็นบริษัทร่วม 49% นั้น เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของ DGT ในการทำรายการซื้ออุปกรณ์และพัฒนาสินค้าประเภทซอฟแวร์เพื่อส่งมอบต่อลูกค้าให้ทันกำหนดเวลาและสามารถรับชำระเงินค่าบริการและสินค้าตามสัญญาและใบคำสั่งซื้อได้ เพื่อประโยชน์ในการเสริมสภาพคล่องในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และสามารถทำให้ DGT สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างลุล่วงตามที่วางแผนไว้

รวมถึงจากการประเมินระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ยืมในช่วงปี 2560 มีแผนการชำระคืนเงินที่ชัดเจนและอยู่ภายใต้เจตนาและการดูแลของคณะกรรมการของ DGT อย่างใกล้ชิด บริษัทพิจารณาถึงความจำเป็นและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการไม่มีเงินทุนหมุนเวียนดังกล่าวแล้วจึงพิจารณาให้ความช่วยเหลือในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ โดย ณ สิ้นมิถุนายน 2560 มียอดคงเหลือเงินกู้ยืมที่ให้แก่ DGT จำนวน 12.21 ล้านบาท รายการให้เงินกู้ยืมแก่ DGT ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมาไม่ได้เป็นการให้ความช่วยเหลือตามสัดส่วนการถือหุ้นใน DGT เนื่องจากบริษัทเล็งเห็นถึงความสามารถในการต่อยอดธุรกิจของ DGT ที่มีแผนงานในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่สามารถประยุกต์ใช้สำหรับธุรกิจโรงแรมและโรงพยาบาล และมองเห็นโอกาสในการเติบโตในอนาคต นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงภาพรวมในการประกอบธุรกิจและสภาพความจำเป็นในการใช้เงินของ DGT ที่มีความเร่งด่วนเพื่อตอบสนองต่อรายการค้าขายและการดำเนินธุรกิจปกติของ DGT และความพร้อมของผู้ถือหุ้นรายอื่นไม่สามารถจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมได้ทันเวลาในช่วงดังกล่าว จึงได้สำรองเงินให้ความช่วยเหลือดังกล่าวแก่ DGT

อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การเงินภายในกลุ่มบริษัท และการจัดการโครงสร้างภายในกลุ่มบริษัทในช่วงที่ผ่านมา บริษัทมีแผนเรียกชำระเงินกู้ยืมดังกล่าวคืนภายในปี 2560 และบริษัทจะรายงานความคืบหน้าต่อไปในทุก ๆ ไตรมาส และงบประจำปีที่จะถึงนี้ต่อไป

ส่วนประมาณการหนี้สินจากภาระค้ำประกันให้กับบริษัท ไพร์มไทม์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (PTE) ซึ่งเป็นอดีตบริษัทย่อย 82 ล้านบาท ตามที่เพิ่งปรากฏข้อมูลว่ามีการแก้ไขงบการเงินไตรมาสที่ 2/59 ย้อนหลัง เกี่ยวกับประมาณการหนี้สินจากภาระค้ำประกันให้กับ PTE 78 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ผลการดำเนินงานในงวดดังกล่าวเปลี่ยนจากกำไรสุทธิ 23 ล้านบาท เป็นขาดทุนสุทธิ 54 ล้านบาท และในการขาย PTE นั้น คณะกรรมการบริษัทหรือบริษัทได้กำหนดเงื่อนไขในสัญญาระบุให้ผู้ซื้อเป็นผู้รับภาระค้ำประกันในกรณีที่ธนาคารแจ้งให้ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันและบอกกล่าวบังคับจำนองหรือไม่ อย่างไร

DNA ชี้แจงว่าในสัญญาซื้อขายเงินลงทุนใน PTE ไม่ได้ระบุเรื่องเกี่ยวกับภาระค้ำประกันในสัญญาดังกล่าว เนื่องจากบริษัท มีความตั้งใจที่จะเจรจากับสถาบันการเงิน เพื่อขอความชัดเจนในการเปลี่ยนผู้ค้ำประกัน และหาผู้ค้ำประกันที่เหมาะสมตามเงื่อนไขที่สถาบันการเงินระบุเพื่อให้สามารถทดแทนหรือเทียบเท่าบริษัท ทั้งนี้บริษัทได้เคยชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 2/59 ไว้ว่า ภาระผูกพันและเงินค้ำประกันของกลุ่มบริษัทที่มีต่อ PTE อยู่ระหว่างเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอโอนภาระการค้ำประกัน ซึ่งมียอด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 เท่ากับ 77.85 ล้านบาท ให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ PTE และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มบริษัทต่อไป ณ ปัจจุบันบริษัทได้ไม่ได้รับข้อสรุปจากทางสถาบันการเงิน

ส่วนสาเหตุที่ในไตรมาส 2/60 บริษัทจึงมีภาระค้ำประกันให้กับ PTE เพิ่มขึ้นเป็น 82 ล้านบาท จากเดิมมีภาระค้ำประกัน 78 ล้านบาท ณ วันที่มีมติอนุมัติขาย PTE พร้อมระบุรายละเอียดของหลักประกัน เนื่องจากภาระค้ำประกันที่เพิ่มขึ้นจำนวน 4 ล้านบาทนั้นเกิดจากรายการของดอกเบี้ยของหนี้สินที่ PTE มีกับสถาบันการเงิน คำนวณจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ซึ่งทำให้จำนวนเงินที่เกี่ยวกับภาระค้ำประกันดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามบริษัทอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริง เพื่อเจรจาต่อรองกับทางสถาบันการเงิน เนื่องจากสถาบันการเงินควรเรียกร้องและติดตามหนี้กับทาง PTE จนถึงที่สุดก่อนแล้วจึงเรียกร้องและอ้างสิทธิ์ถึงภาระที่มีของผู้ค้ำประกันต่อไป โดยปัจจุบัน PTE อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างบริษัท เพื่อแก้ปัญหาสถานะทางการเงิน จึงได้มีการเจรจาเพื่อขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ในส่วนที่ค้างอยู่กับทางบริษัทตามที่เป็นยอดคงค้างข้างต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ