ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดลบ 115.44 จุด หลัง GDP สหรัฐหดตัวไตรมาสแรก

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday May 30, 2015 06:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (29 พ.ค.) หลังจากที่มีการเปิดตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาสแรกที่ออกมาติดลบ นอกจากนี้นักทุนยังคงวิตกกังวลต่อสถานการณ์หนี้กรีซ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลดลง 115.44 จุด หรือ 0.64% ปิดที่ 18,010.68 จุด ดัชนี S&P500 ลดลง 13.40 จุด หรือ 0.63% ปิดที่ 2,107.39 จุด ดัชนี NASDAQลดลง 27.95 จุด หรือ 0.55% ปิดที่ 5,070.03 จุด สำหรับตลอดสัปดาห์ สามดัชนีหลักปรับตัวลดลง 1.2%, 0.9% และ 0.4% ตามลำดับ

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้เปิดเผยในวันศุกร์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้หดตัวลง 0.7% จากที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าขยายตัว 0.2% โดยระบุถึงภาวะอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติ และการแข็งค่าของดอลลาร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภค

ทางกระทรวงฯระบุว่า การปรับตัวลดลงของ GDP ในไตรมาสแรกมีสาเหตุหลักมาจากการส่งออก การลงทุนถาวรที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย และการใช้จ่ายภาครัฐที่อ่อนแอ ซึ่งบดบังการใช้จ่ายผู้บริโภค การลงทุนในสินค้าคงคลังภาคเอกชน และการลงทุนด้านที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวดีขึ้น

นอกจากตัวเลข GDP แล้ว วานนี้ยังมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแออีกหลายรายการ ซึ่งรวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโกหดตัวลงในเดือนพ.ค. ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนต่อภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐในไตรมาส 2

ทั้งนี้ ดัชนีร่วงลงสู่ระดับ 46.2 ในเดือนพ.ค. จาก 52.3 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. โดยดัชนีดิ่งลงต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิต

ขณะที่ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐขั้นสุดท้ายของเดือนพ.ค.อยู่ที่ระดับ 90.7 จากตัวเลขเบื้องต้นที่ 88.6 แต่ตัวเลขทั้ง 2 ยังคงต่ำกว่ามากจากระดับ 95.9 ในเดือนเม.ย. หลังจากพุ่งแตะระดับ 98.1 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี

นอกจากนี้ การเจรจาหนี้กรีซที่ยังไม่มีทางออกและยังไม่ได้ข้อสรุปก็ส่งผลกระทบต่อภาวะซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเช่นเดียวกัน ประกอบกับวานนี้มีรายงานข่าวว่าธนาคารรายใหญ่ 2 แห่งของกรีซต้องพึ่งพาการระดมทุนจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) มากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศได้ส่งผลให้กระแสเงินฝากไหลออกอย่างต่อเนื่อง

ธนาคารรายใหญ่ 2 แห่งดังกล่าว ก็คือ เนชันแนล แบงก์ ออฟ กรีซ ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของกรีซเมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์ และอัลฟา แบงก์

ทั้งนี้ ธนาคารของกรีซได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการเงินที่ยืดเยื้อของประเทศ รวมทั้งเผชิญแรงกดดันจากหนี้เสียที่พุ่งขึ้นและฐานเงินฝากที่หดตัวลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้ฝากเงินมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของระบบธนาคาร จึงได้ถอนเงินจากบัญชี หรือนำเงินไปไว้ในต่างประเทศแทน

ข่าวดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลจากธนาคารกลางยุโรปที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ปริมาณเงินฝากในธนาคารของกรีซได้ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี ขณะที่ชาวกรีซพากันแห่ถอนเงินฝาก หลังมีความวิตกต่อความคืบหน้าที่ล่าช้าในการเจรจาแก้ไขวิกฤติหนี้ระหว่างรัฐบาลและประเทศเจ้าหนี้

ECB ระบุว่า ชาวกรีซได้พากันถอนเงินจากธนาคารมากกว่า 5 พันล้านยูโร (5.5 พันล้านดอลลาร์) ในเดือนเม.ย. ส่งผลให้ปริมาณเงินฝากของภาคครัวเรือน ณ สิ้นเดือนเม.ย.อยู่ที่ระดับ 1.394 แสนล้านยูโร (1.519 แสนล้านดอลลาร์) ลดลงจากระดับ 1.45 แสนล้านยูโรในเดือนมี.ค.

ตัวเลขเงินฝากในเดือนเม.ย.ถือเป็นตัวเลขต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2004 ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่ 1.372 แสนล้านยูโร

ขณะเดียวกันคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของเยอรมันว่า เธอไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่กรีซอาจจะต้องออกจากกลุ่มยูโร และนั่นอาจไม่ได้หมายความถึงอวสานของยูโร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ