ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดพุ่ง 200.36 จุด จากกระแสคาดเฟดยังไม่ขึ้นดบ,หุ้นพลังงานดีดตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday October 3, 2015 07:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดดีดตัวสูงขึ้นเมื่อคืนนี้ (2 ต.ค.) จากที่ร่วงลงอย่างหนักในช่วงแรกของการซื้อขาย โดยนักลงทุนเชื่อว่า มีความเป็นไปได้น้อยลงที่ธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ หลังตัวเลขจ้างงานเดือนก.ย.ออกมาน่าผิดหวัง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ดีดตัวขึ้นยังได้ช่วยกระตุ้นให้นักลงทุนส่งแรงซื้อเข้าหนุนหุ้นกลุ่มพลังงานและวัสดุด้วย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 200.36 จุด หรือ 1.23% ปิดที่ 16,472.37 จุด ดัชนี S&P500 บวก 27.54 จุด หรือ 1.43% ปิดที่ 1,951.36 จุด ดัชนี NASDAQ พุ่งขึ้น 80.69 จุด หรือ 1.74% ปิดที่ 4,707.78 จุด

สำหรับตลอดทั้งสัปดาห์ ดาวโจนส์ และ S&P 500 เพิ่มขึ้น 1.0% ขณะที่ Nasdaq ขยับขึ้น 0.5%

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กดิ่งลงในช่วงเปิดตลาด โดยนักลงทุนพากันส่งแรงเทขายเข้าตลาด หลังผิดหวังต่อการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐที่ต่ำกว่าคาด

กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 142,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 5.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 7 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2008

ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ส่วนอัตราการว่างงาน คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 5.1%

อย่างไรก็ดี เริ่มมีแรงซื้อกลับเข้ามาในตลาดอีกครั้ง และดันให้ทั้งสามดัชนีพลิกกลับมาเคลื่อนไหวและปิดในแดนบวกในที่สุด เนื่องจากนักลงทุนเริ่มหันไปให้ความสนใจเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ว่า ข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังอาจทำให้เฟดตัดสินใจชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากที่คาดกันว่าจะเป็นปีนี้ออกไปเป็นปีหน้า

ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดเผยข้อมูลแรงงาน เจ้าหน้าที่หลายรายของธนาคารกลางสหรัฐต่างออกมาแสดงความเห็นในเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบ 9 ปีว่ามีแนวโน้มจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ ซึ่งสะท้อนถึงถ้อยแถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด

นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้กล่าวสุนทรพจน์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยประเมินว่าเฟดจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ภายในสิ้นปีนี้

ประธานเฟดระบุว่ามีแนวโน้มที่จะมีความเหมาะสมในการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาสู่เป้าหมายที่ 2% ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อปัจจัยชั่วคราวที่กดดันเงินเฟ้อได้จางหายไป พร้อมกล่าวว่าภาวะอ่อนแอของเศรษฐกิจทั่วโลกไม่มีแนวโน้มจะมีนัยสำคัญมากพอที่จะส่งผลกระทบต่อนโยบายการเงินของเฟด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ตลาดแรงงานและเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ได้แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน และอาจสะกิดให้เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของเฟดต้องทบทวนท่าทีในการปรับขึ้นดอกเบี้ย

คริส โลว์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ เอฟทีเอ็น ไฟแนนเชียล กล่าวว่า ตัวเลขจ้างงานที่ชะลอตัว การมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานที่ปรับตัวลดลง และค่าแรงที่หยุดนิ่ง ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ แม้ประธานเฟด ซานฟรานซิสโก ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์อัตราว่างงานเมื่อวันก่อนก็ตาม

นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ อันเนื่องมาจากคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการจ้างงานในระดับสูงสุดในอนาคตอันใกล้ และเงินเฟ้อจะค่อยๆปรับตัวสู่เป้าหมายที่ 2% ของเฟด

นายวิลเลียมส์คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.25% ต่อปีในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราว่างงานลดลงมาอยู่ต่ำกว่า 5% ภายในปีนี้ โดยเขาคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะขยายตัวสูงกว่า 2% เล็กน้อยในปีหน้า

ด้านนายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟด สาขานิวยอร์ก กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เขาเชื่อว่าเฟดจะยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษก่อนสิ้นปีนี้

"ผมคาดหวังว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงต่อไปของปีนี้" เขากล่าว และเสริมว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนต.ค. หรือธ.ค.

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์ นอกจากตัวเลขจ้างงานแล้ว กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐปรับตัวลงในเดือนส.ค. โดยร่วงลงมากที่สุดในรอบ 8 เดือน นำโดยการดิ่งลงของอุปสงค์เครื่องบินพาณิชย์

ทั้งนี้ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐลดลง 1.7% ในเดือนส.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ค.

การร่วงลงของยอดสั่งซื้อในเดือนส.ค. ถือว่ารุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ที่ดิ่งลง 3.7% ในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว

ขณะเดียวกัน ภาวะซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐยังได้ปัจจัยหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน โดยหุ้นกลุ่มพลังงานทะยาน 4.01% หลังจากที่ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้น เนื่องจากมีการเปิดเผยข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า ผลผลิตน้ำมันดิบสหรัฐกำลังหดตัวลง โดยปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐปรับลดลงจาก 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อประมาณช่วงปลายเดือนพ.ค. ถึงกลางเดือนก.ค. มาอยู่ที่ราว 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ล่าสุด ขณะที่เบเกอร์ ฮิวจส์ รายงานวันก่อนว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในสหรัฐลดลงอีก 4 หลุม เหลือ 640 หลุม สิ้นสุดสัปดาห์ที่ 25 ก.ย. ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนก.ค. หลังจากที่ลดลงไปกว่า 31 หลุมเมื่อสามสัปดาห์ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ