ดาวโจนส์ยังคงร่วงต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่ง 150 จุด หลังทรุดกว่า 200 จุดวานนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 29, 2016 23:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ซึ่งเป็นวันซื้อขายสุดท้ายของเดือนนี้ หลังจากที่ดิ่งลงกว่า 200 จุดเมื่อวานนี้

ณ เวลา 22.52 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 17,679.85 จุด ดิ่งลง 150.91 จุด หรือ 0.85%

นักลงทุนผิดหวังต่อการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อวานนี้ และกังวลจากการที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.

นักลงทุนจับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ, ผลประกอบการ และการแกว่งตัวของค่าเงินดอลลาร์ในวันนี้

เมื่อพิจารณาทั้งสัปดาห์ ดัชนีดาวโจนส์มีแนวโน้มปรับตัวลง แต่ยังคงสามารถดีดตัวขึ้นเมื่อพิจารณาทั้งเดือนนี้

หุ้นกลุ่มธุรกิจดูแลสุขภาพร่วงลงนำตลาดวันนี้ ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานดีดตัวสวนทางตลาด ตามการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI พุ่งขึ้นกว่า 1% ในวันนี้ จากปัจจัยดอลลาร์ที่อ่อนค่า และการร่วงลงของการผลิตน้ำมันในสหรัฐ

ณ เวลา 19.27 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX เพิ่มขึ้น 47 เซนต์ หรือ 1.02% สู่ระดับ 46.50 ดอลลาร์/บาร์เรล

นายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส กล่าวว่า เขาสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนมิ.ย.หรือก.ค.นี้ หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งตามที่เขาคาดไว้

นายแคปแลนยังระบุว่า ตลาดการเงินได้ประเมินต่ำเกินไปถึงความพร้อมของเฟดในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องจากที่ได้ปรับขึ้นในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ นายแคปแลนกล่าวว่า เขาจะผลักดันให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อยังคงปรับตัวขึ้น และเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีการจ้างงานใกล้เต็มศักยภาพ

"ขณะที่เรายังคงมีความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายในการรักษาการจ้างงานไว้ที่ระดับสูงสุด และดูแลให้เงินเฟ้อมีเสถียรภาพ ผมจะสนับสนุนให้เฟดถอนการผ่อนคลายนโยบายบางส่วนอย่างค่อยเป็นค่อยไป" เขากล่าว

นายแคปแลนยังคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะดีดตัวในระยะกลางแตะระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายของเฟด จากแรงกดดันที่ลดลงของดอลลาร์ที่แข็งค่า และภาวะราคาน้ำมันต่ำ

นายแคปแลนถือเป็นเจ้าหน้าที่เฟดคนแรกที่ออกมาแสดงความเห็น หลังการประชุมเฟดในสัปดาห์นี้ ซึ่งที่ประชุมมีมติตรึงอัตราดอกเบี้ย และส่งสัญญาณไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยระบุถึงเศรษฐกิจที่ซบเซา ถึงแม้ตลาดแรงงานปรับตัวขึ้น

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขยับขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.พ.

การขยับขึ้นของดัชนี PCE เพียงเล็กน้อย และยังคงห่างจากเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ของเฟด บ่งชี้ถึงการใช้จ่ายที่ซบเซาของผู้บริโภค และส่งสัญญาณว่าเฟดจะยังคงไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือนมี.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนก.พ.

การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐขยับขึ้น 0.1% ในเดือนมี.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.พ.

รายได้ส่วนบุคคลของชาวสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมี.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนก.พ.

ส่วนอัตราการออมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 7.355 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2012 จากระดับ 6.964 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ.

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเขตชิคาโก ร่วงลงสู่ระดับ 50.4 ในเดือนเม.ย. จากระดับ 53.6 ในเดือนมี.ค.

การดิ่งลงของดัชนีได้รับผลกระทบจากคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับตัวลง และความไม่มั่นใจเกี่ยวกับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าดัชนีจะอยู่ที่ระดับ 53.0 ในเดือนเม.ย.

ดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงการหดตัวของภาคการผลิต ขณะที่ดัชนีที่อยู่สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงการขยายตัว

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงในเดือนเม.ย. แตะระดับ 89 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้ว และเป็นการปรับตัวลง 4 เดือนติดต่อกัน

ก่อนหน้านี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐอยู่ที่ระดับ 91 ในเดือนมี.ค.

ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐจะอยู่ที่ระดับ 92 ในเดือนเม.ย.

ดัชนีดังกล่าวเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และการคาดการณ์ในอนาคต

ทั้งนี้ ดัชนีสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันปรับตัวขึ้นในเดือนเม.ย. แต่ดัชนีคาดการณ์ในอนาคตปรับตัวลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ