ตลาดหุ้นเอเชียเคลื่อนไหวทั้งแดนบวกและลบภาคบ่าย นลท.จับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ-เพดานหนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 28, 2017 11:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นเอเชียเคลื่อนไหวทั้งในแดนบวกและลบในการซื้อขายภาคบ่ายวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนได้ซึมซับถ้อยแถลงของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยนักลงทุนได้หันมาจับตาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตลาดน้ำมันจากอิทธิพลของพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ที่พัดถล่มสหรัฐ นอกจากนี้ ข้อมูลเงินเฟ้อและตัวเลขจ้างงานสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ก็เป็นตัวเลขที่นักลงทุนต่างจับตา

ดัชนี SENSEX ตลาดหุ้นอินเดียเปิดวันนี้ที่ 31,756.87 จุด เพิ่มขึ้น 160.81 จุด, +0.51% ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ 28,003.36 จุด เพิ่มขึ้น 155.20 จุด, +0.56% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียปิดภาคเช้าที่ 1,771.12 จุด เพิ่มขึ้น 1.95 จุด, +0.11%

นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า ระบบการเงินมีความปลอดภัยมากขึ้นในขณะนี้ เมื่อเทียบกับในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงิน แม้ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบบางอย่าง

"ขณะนี้เราได้ทำการปฏิรูปที่จำเป็นแล้ว และการปฏิรูปเหล่านี้ก็ได้ทำให้ระบบมีความปลอดภัยขึ้น" นางเยลเลนกล่าว

นายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวมากขึ้น แต่เขาก็ได้เตือนเกี่ยวกับปัญหาด้านโครงสร้างประชากรที่จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เขายังระบุว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยุโรป และญี่ปุ่น ยังคงอยู่ในช่วงแรก เมื่อเทียบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

คอร์โลจิก (CoreLogic) ผู้ให้บริการข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของสหรัฐ เปิดเผยผลการวิเคราะห์ความเสียหายจากพายุเฮอร์ริเคน "ฮาร์วีย์" ซึ่งพัดถล่มรัฐเท็กซัสของสหรัฐเมื่อวานนี้ โดยคาดว่าเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์อาจสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

คอร์โลจิกระบุว่า ยอดเคลมประกันภัยจากพายุเฮอร์ริเคน "ฮาร์วีย์" อาจอยู่ในช่วง 1-2 พันล้านดอลลาร์ โดยการวิเคราะห์ครั้งนี้ทำขึ้นในช่วงที่เฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ยังคงเป็นพายุเฮอร์ริเคนระดับ 3 ก่อนจะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นระดับ 4

ขณะนี้ สภาคองเกรสยังคงไม่มีการบรรลุข้อตกลงในการเพิ่มเพดานหนี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 19.9 ล้านล้านดอลลาร์ แม้ว่านายสตีเวน มนูชิน รมว.คลัง เรียกร้องให้มีการบรรลุข้อตกลงก็ตาม

หากรัฐบาลสหรัฐไม่มีงบประมาณที่จะบริหารประเทศ ก็จะส่งผลให้มีการปิดหน่วยงานของรัฐบาล โดยสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนต.ค. ขณะที่สหรัฐเผชิญความเสี่ยงในการผิดนัดชำระดอกเบี้ย และเงินต้นของพันธบัตร และจะสร้างความตื่นตระหนกต่อตลาดการเงินทั่วโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ