ดาวโจนส์ร่วง นักลงทุนกังวลภาวะเศรษฐกิจโลก หลังจีนเผยตัวเลขเศรษฐกิจอ่อนแอ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 14, 2017 21:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์เปิดแดนลบในวันนี้ โดยได้รับผลกระทบจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอ ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก

ณ เวลา 21.40 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 23,361.27 จุด ลดลง 78.43 จุด หรือ 0.33%

หุ้นกลุ่มพลังงานดิ่งลงนำตลาดวันนี้ ขณะที่หุ้นโฮม ดีโปท์ร่วงลงมากที่สุดในการซื้อขายช่วงแรก แม้เปิดเผยผลประกอบการที่ดีกว่าคาด

โฮม ดีโปท์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายสินค้าตกแต่งบ้านที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 3 ที่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่เจ้าของบ้านที่ได้รับความเสียหายจากพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ และเออร์มา มีความต้องการซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการตกแต่ง และซ่อมแซมบ้าน

ทั้งนี้ โฮม ดีโปท์ เปิดเผยว่า บริษัทมีกำไร 1.84 ดอลลาร์/หุ้น ในไตรมาส 3 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.82 ดอลลาร์/หุ้น

นอกจากนี้ บริษัทมีรายได้ 2.503 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.455 หมื่นล้านดอลลาร์

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยในวันนี้ว่า ยอดค้าปลีก, การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ต่างมีการขยายตัวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะเวลา 10 ปีของจีนพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ขณะที่ราคาทองแดงดิ่งลง หลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังของจีน

นักลงทุนยังคงจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน และความคืบหน้าของมาตรการปฏิรูปภาษีของสหรัฐ

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จัดการประชุมเสวนาในวันนี้ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี ภายใต้หัวข้อ "Communication challenges for policy effectiveness, accountability and reputation" ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

นางเยลเลนกล่าวว่า การที่เฟดทำการชี้นำทิศทางนโยบายในอนาคตนั้น เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ก็ควรดำเนินการอย่างมีเงื่อนไข โดยขึ้นอยู่กับการปรับตัวของเศรษฐกิจในขณะนั้น

"การชี้นำนโยบายของเฟดควรทำอย่างมีเงื่อนไข และเกี่ยวข้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ" นางเยลเลนกล่าว

นางเยลเลนยอมรับว่า ปัจจัยหนึ่งที่ท้าทายเฟดก็คือ การที่เฟดมีสมาชิกคณะกรรมการจำนวนมาก ซึ่งอาจสร้างความสับสนต่อตลาดการเงิน ขณะที่กรรมการเฟดแต่ละคนแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน

"เรามีสมาชิกคณะกรรมการเฟดมากถึง 19 คน และเราก็ใช้ระบบประชาธิปไตยสำหรับการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งระบบดังกล่าวได้เริ่มขึ้นจากประธานเฟดคนก่อนๆ" นางเยลเลนกล่าว

ด้านนายคาร์นีย์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางจะต้องสื่อสารด้านนโยบายไปให้ถึงสาธารณชนในวงกว้าง มากกว่าที่จะไปถึงแต่เพียงนักลงทุนในตลาดการเงิน

"เราจะต้องพูดกับประชาชนที่เรารับใช้ก่อน โดยขณะนี้มีคนอ่านหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์สเพียง 3 แสนคน แต่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กในสหราชอาณาจักรมากถึง 30 ล้านคน" เขากล่าว

ส่วนนายคุโรดะกล่าวว่า วิธีที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงการสร้างความเข้าใจผิดต่อตลาดการเงินก็คือ เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางควรใช้ข้อความที่เรียบง่าย

"ข้อความที่ใช้ควรตรงไปตรงมา นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุด" เขากล่าว

ทางด้านนายดรากีกล่าวว่า การส่งสัญญาณชี้นำล่วงหน้าสำหรับนโยบายการเงินในอนาคตได้ประสบความสำเร็จในการผลักดันการคาดการณ์ของตลาด และขณะนี้มาตรการชี้นำล่วงหน้าดังกล่าวได้ถือเป็นเครื่องมือด้านนโยบายที่มีความสำคัญ

"มาตรการชี้นำล่วงหน้าได้กลายเป็นเครื่องมือด้านนโยบายอย่างเต็มตัว โดยประสบการณ์ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ และเราจะทิ้งเครื่องมือนโยบายการเงินแบบนี้ได้อย่างไร ในเมื่อได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ" นายดรากีกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ