ดาวโจนส์ไหลไม่หยุด ล่าสุดทรุดเกือบ 400 จุด ผวาสหรัฐเปิดศึกการค้าจีนรอบใหม่,จ้างงานวูบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 6, 2018 22:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ยังคงร่วงลงอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดทรุดตัวลงเกือบ 400 จุด โดยได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดศึกการค้ากับจีนรอบใหม่

นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกระทบจากการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

นักลงทุนจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของนายเจอโรม เพาเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐในปีนี้

ณ เวลา 22.04 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 24,106.27 จุด ลดลง 398.95 จุด หรือ 1.63%

หุ้นกลุ่มการเงินดิ่งลงนำตลาดวันนี้

หุ้นโบอิ้งและแคทเทอร์พิลลาร์ ซึ่งเป็น 2 บริษัทที่อาจได้รับผลกระทบจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ร่วงลงมากกว่า 2%

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สั่งการให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) พิจารณารายการสินค้านำเข้าจากจีนที่สหรัฐอาจเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีก 1 แสนล้านดอลลาร์

ปธน.ทรัมป์กล่าวว่า เขาได้ขอให้นายโรเบิร์ต ไลท์ไทเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ พิจารณาว่าการเก็บภาษีนำเข้าอีก 1 แสนล้านดอลลาร์นั้นเหมาะสมหรือไม่ภายใต้มาตรา 301 และหากเหมาะสม ก็ขอให้ระบุรายการสินค้าที่จะเรียกเก็บภาษีดังกล่าว

ปธน.ทรัมป์ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นเพราะจีนได้ตอบโต้อย่างไม่เป็นธรรมต่อการที่สหรัฐประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนวงเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์

โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนประกาศในวันนี้ว่า จีนจะตอบโต้สหรัฐไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม และจะใช้มาตรการตอบโต้อย่างครอบคลุม หากสหรัฐยังคงเดินหน้ากีดกันการค้าแต่เพียงฝ่ายเดียว

ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนมี.ค. โดยเพิ่มขึ้นเพียง 103,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 193,000 ตำแหน่ง หลังจากที่พุ่งขึ้น 326,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ.

ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปี และเป็นการทรงตัวที่ระดับดังกล่าวเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 4.0%

ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 8 เซนต์/ชั่วโมง หรือ 0.3% โดยสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.2% จากระดับ 0.1% ในเดือนก.พ. และเพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.6% ในเดือนก.พ.

ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างต่อชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ

กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ทบทวนปรับลดตัวเลขการจ้างงานในเดือนม.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 176,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 239,000 ตำแหน่ง และทบทวนปรับเพิ่มตัวเลขจ้างงานในเดือนก.พ. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 326,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 313,000 ตำแหน่ง

กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่าในเดือนมี.ค. ภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 102,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐจ้างงานเพิ่มขึ้น 1,000 ตำแหน่ง

ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด ร่วงลงสู่ระดับ 62.9% จากระดับ 63.0% ในเดือนก.พ.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ