ยูโรร่วงต่ำสุด 11 ปี ผวาฝ่ายค้านกรีซชนะเลือกตั้ง ขณะข่าว ECB กดดันค่าเงิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 23, 2015 20:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ยูโรร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 11 ปีเมื่อเทียบดอลลาร์ จากความวิตกที่ว่าพรรคไซรีซา ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของกรีซ และต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งวันอาทิตย์นี้ ขณะที่ยูโรอ่อนค่าลงอยู่แล้วหลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ครั้งใหญ่เมื่อวานนี้

ยูโรมีแนวโน้มร่วงลงเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน ก่อนการเลือกตั้งของกรีซในวันอาทิตย์

ณ เวลา 18.55 น.ตามเวลาไทย ยูโรดิ่งลง 1.3% สุ่ระดับ 1.1216 ดอลลาร์ หลังจากร่วงลงแตะ 1.1213 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2003 นอกจากนี้ ยูโรอ่อนค่าลง 1.7% สู่ระดับ 133.34 เยน ขณะที่ดอลลาร์ลดลง 0.4% สู่ระดับ 117.97 เยน

ยูโรร่วงลง 2.1% เมื่อวานนี้ หลังจาก ECB ประกาศทำ QE ในวงเงินที่มากกว่าที่คาดไว้

ยูโรมีแนวโน้มทรุดตัวลง 3.1% ในสัปดาห์นี้เมื่อเทียบดอลลาร์ หลังจากปรับตัวลง 10% นับตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.ปีที่แล้ว

ผลการสำรวจความคิดเห็นล่าสุดพบว่า พรรคไซรีซา มีคะแนนนำทิ้งห่างมากขึ้นต่อพรรคนิวเดโมเครซี (ND) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ก่อนที่การเลือกตั้งทั่วประเทศของกรีซจะมีขึ้นในวันที่ 25 ม.ค.นี้ ทั้งนี้ ผลการสำรวจระบุว่า พรรคไซรีซามีคะแนน 33.1% เหนือกว่าพรรค ND ซึ่งได้ไปเพียง 28.5% โดยมีช่องว่างห่างกันมากถึง 4.6% จากเดิมที่มีเพียง 3.5% สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนทางการเมืองของกรีซยังคงเป็นที่จับตาของนักลงทุนในตลาดการเงิน เนื่องจากการเลือกตั้งในวันที่ 25 ม.ค.นี้ ถือเป็นการชี้ชะตาว่ากรีซจะสามารถรักษาสถานภาพการเป็นสมาชิกยูโรโซนต่อไปได้หรือไม่ ขณะที่ผลการสำรวจจากหลายสำนัก รวมถึงสถานีโทรทัศน์เมก้า, หนังสือพิมพ์พอนทิกิ, เมตรอน อนาไลซิส และวีมา ทรีบูน ต่างก็ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า พรรคไซรีซามีคะแนนนำเหนือพรรครัฐบาลของนายอันโตนิโอ ซามาราส

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองมองว่า หากพรรคไซรีซาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ก็อาจจะทำให้หัวหน้าพรรคคือนายอเล็กซิส ซิปราส เดินหน้าคัดค้านการใช้มาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนีเพื่อแลกกับการให้ความช่วยเหลือกรีซ ซึ่งความแข็งกร้าวของนายซิปราสอาจจะส่งผลให้กรีซเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ และอาจทำให้กรีซต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกยูโรโซนในที่สุด

นายปีเตอร์ โบฟิงเกอร์ สมาชิกคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลเยอรมนี เตือนว่า หากกรีซพ้นจากสถานะประเทศสมาชิกยูโรโซนก็เท่ากับเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพของยูโรโซน เพราะถึงแม้ว่าจะไม่มีผลกระทบกับประเทศอื่นๆ แต่การควบคุมผลกระทบที่ตามมานั้น จะเป็นไปอย่างยากลำบากมาก

ขณะที่นายฮันส์ เวอร์เนอร์ ซินน์ ผู้อำนวยการสถาบันของ Ifo ของเยอรมนี ได้แสดงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันของกรีซมีความแตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันกรีซไม่มีศักยภาพด้านการแข่งขันและไม่อยู่ในสถานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้ จึงต้องมีการเจรจาเพื่อลดหนี้ ดังนั้นหากการเมืองของกรีซเปลี่ยนขั้ว ก็อาจทำให้กรีซต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศยูโรโซน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ