ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์ปรับลง ขณะราคาน้ำมันยังย่ำแย่

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 22, 2015 07:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลงเมื่อเทียบกับเงินหลักส่วนใหญ่เมื่อคืนนี้ (21 ธ.ค.) ขณะที่ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในภาวะซบเซา ส่วนสกุลเงินยูโรแข็งค่าหลังจากทราบผลการเลือกตั้งของสเปนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ค่าเงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0921 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.0862 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์ลดลงที่ 1.4883 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.4809 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลงเทียบกับสกุลเงินเยนที่ 121.05 เยน จาก 121.28 เยน และลดลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9919 ฟรังก์ จาก 0.9928 ฟรังก์

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียปรับขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7187 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7186 ดอลลาร์

ดอลลาร์ยังคงอ่อนแรงลงในช่วงเริ่มต้นของสัปดาห์ที่วันหยุดยาว โดยตลาดสหรัฐและตลาดยุโรปส่วนใหญ่จะปิดทำการในวันศุกร์นี้ เนื่องในเทศกาลคริสต์มาส

ดอลลาร์ปรับตัวช่วงขาลง ขณะที่ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในภาวะย่ำแย่ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับปัญหาปริมาณน้ำมันล้นตลาด จากการส่งออกของสหรัฐ อิหร่านและลิเบีย

โกลด์แมน แซค คาดว่าราคาน้ำมันจะต้องทรุดตัวลงแตะระดับ 20 ดอลลาร์/บาร์เรลเพื่อทำให้กลุ่มผู้ผลิตปรับลดกำลังการผลิต

ทางด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้ลงนามในกฎหมายเพื่อยกเลิกข้อห้ามส่งออกน้ำมันสหรัฐ ที่มีการบังคับใช้มานาน 40 ปี

ส่วนยูโรแข็งค่าขึ้น แม้ว่าไม่มีพรรคการเมืองใดในสเปนที่ได้ครองเสียงข้างมากในรัฐสภาหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงินของสเปน

ทั้งนี้ พรรคประชาชน (PP) ของนายมาเรียโน ราฮอย นายกรัฐมนตรีสเปน คว้าที่นั่งส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งทั่วไปของสเปน แต่พรรคของเขาก็ยังไม่สามารถคว้าเสียงข้างมากในสภา ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เป็นเรื่องยาก เนื่องจากพรรค Podemos และพรรค Citizens (Ciudadanos) ก็ได้รับคะแนนเสียงไปส่วนหนึ่งเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ยูโรได้รับปัจจัยบวก จากการที่ธนาคารกลางเยอรมนี (บุนเดสแบงก์) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจเยอรมนียังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในเดือนนี้ โดยการใช้จ่ายของผู้อพยพ และรายได้ที่เพิ่มขึ้น ได้ช่วยผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

บุนเดสแบงก์ระบุว่า การร่วงลงของราคาน้ำมันช่วยเพิ่มอำนาจการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐสำหรับผู้อพยพ ก็ได้หนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4 เช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ