ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนเทียบค่าเงินหลัก เหตุนักลงทุนซึมซับถ้อยแถลง"เยลเลน"

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday March 4, 2017 06:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนซึมซับถ้อยแถลงของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากความผันผวนของรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนก.พ.ของสหรัฐ

ยูโรแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.0606 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 1.0497 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.2283 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.2251 ดอลลาร์สหรัฐ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7592 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7559 ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 114.03 เยน จากระดับ 114.55 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 1.0090 ฟรังก์ จากระดับ 1.0145 ฟรังก์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเนื่องจากนักลงทุนได้ซึมซับถ้อยแถลงของนางเยลเลนซึ่งมีขึ้นที่ Executives Club of Chicago เมื่อวานนี้ โดยนางเยลเลนส่งสัญญาณว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม หากเศรษฐกิจมีการขยายตัวที่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของเจ้าหน้าที่เฟด

"ในการประชุมครั้งต่อไปของเฟดซึ่งจะมีขึ้นในเดือนนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) จะประเมินว่า ตัวเลขการจ้างงานและเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของเราหรือไม่ ซึ่งหากตัวเลขดังกล่าวเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (federal funds rate) ก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม" นางเยลเลนกล่าว

นักวิเคราะห์กล่าวว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ได้ซึมซับกระแสคาดการณ์เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดเอาไว้แล้วก่อนหน้านี้ หลังจากที่เจ้าหน้าที่หลายคนของเฟดได้ออกมาส่งสัญญาณดังกล่าว ซึ่งรวมถึงนางลาเอล เบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟด ซึ่งกล่าวว่า เฟดควรขึ้นดอกเบี้ย "เร็วๆนี้" เนื่องจากเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง เช่นเดียวกับนายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก และนายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก ซึ่งสนับสนุนให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆนี้เช่นกัน

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันหลังจากความผันผวนของดัชนีภาคบริการของสหรัฐ โดยบริษัทไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐ ร่วงลงสู่ระดับ 53.8 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน หลังจากพุ่งแตะระดับ 55.1 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี

ผลสำรวจของมาร์กิตสวนทางกับสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ซึ่งพบว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐมีการขยายตัวที่ระดับ 57.6 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2015 โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 56.5 ในเดือนม.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนีภาคบริการจะทรงตัวที่ระดับ 56.5 ในเดือนก.พ.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ