ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนค่าเทียบเงินสกุลหลัก นลท.วิตกสถานการณ์การเมืองในสหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 18, 2017 07:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักๆเกือบทั้งหมด ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (17 พ.ค.) ด้วยแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองในสหรัฐ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และอาจนำไปสู่การถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีอีกด้วย

ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.1155 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1094 ดอลลาร์ ในขณะที่ปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะ 1.2963 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2925 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงที่ระดับ 0.7425 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7434 ดอลลาร์

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเยน ที่ระดับ 110.94 เยน จากระดับ 113.02 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9785 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.9853 ฟรังก์สวิส

ดอลลาร์ได้รับแรงกดดันให้อ่อนค่าลงจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐ ซึ่งอาจสร้างอุปสรรคต่อการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนการปฏิรูปภาษีของปธน.ทรัมป์ และอาจนำไปสู่การถอดถอนปธน.ทรัมป์ออกจากตำแหน่งอีกด้วย

ทั้งนี้ การที่ปธน.ทรัมป์สั่งปลดนายเจมส์ โคมีย์ พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (FBI) ทำให้หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ปธน.ทรัมป์กำลังแทรกแซงการทำงานของ FBI

นอกจากนี้ สื่อยังรายงานว่า ปธน.ทรัมป์ได้สั่งการให้นายโคมีย์ยุติการสอบสวนประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างนายไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ กับรัฐบาลรัสเซีย ก่อนที่นายโคมีย์จะถูกปลดจากตำแหน่ง

ล่าสุด นายเจสัน แชฟเฟตซ์ ประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายตรวจสอบประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้แจ้งให้ FBI ส่งมอบเอกสาร และบันทึกการติดต่อสนทนาระหว่างปธน.ทรัมป์ และนายโคมีย์

ด้วยสถานการณ์ความไม่แน่นอนข้างต้น จึงทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างสกุลเงินเยนกันมากขึ้น โดยค่าเงินเยนพุ่งขึ้น 1.8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในการซื้อขายเมื่อคืนนี้

ขณะที่ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.61% สู่ระดับ 97.506 เมื่อคืนนี้

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีการผลิตเบื้องต้นเดือนพ.ค.โดยเฟดฟิลาเดลเฟีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ