ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนเทียบเงินสกุลหลัก ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนในสหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 7, 2017 07:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (6 มิ.ย.) ด้วยแรงกดดันจากความวิตกของนักลงทุนเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐ

ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 1.1269 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1252 ดอลลาร์ ในขณะที่ปอนด์อ่อนค่าลง ที่ระดับ 1.2885 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2908 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 0.7508 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7489 ดอลลาร์

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเยน ที่ระดับ 109.56 เยน จากระดับ 110.49 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9628 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.9652 ฟรังก์สวิส

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.18% สู่ระดับ 96.622 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์ได้รับแรงกดดันให้อ่อนค่าลง โดยนักวิเคราะห์กล่าวว่า นักลงทุนต่างก็ระมัดระวังการซื้อขายเพื่อจับตาดูนายเจมส์ โคมีย์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (FBI) ที่จะเข้าให้การต่อวุฒิสภาในวันพรุ่งนี้ตามเวลาสหรัฐ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เขาถูกประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งปลดออกจากตำแหน่ง

ทั้งนี้ นายโคมีย์จะให้ข้อมูลต่อวุฒิสภาในประเด็นที่ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ได้กดดันเขาให้ยุติการสืบสวนต่อข้อกล่าวหาที่ว่ารัสเซียได้เข้าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2016 หรือไม่ และปธน.ทรัมป์ได้เรียกร้องให้เขายุติการสอบสวนประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างนายไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ กับรัฐบาลรัสเซีย หรือไม่

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของพนักงาน (JOLTS) รายเดือน พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน เพิ่มขึ้น 259,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 6 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ที่รัฐบาลเริ่มจัดทำตัวเลขดังกล่าวในปี 2000

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวของกระทรวงแรงงานสหรัฐเป็นสิ่งบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ โดยวัดการเปิดรับสมัครงานในภาคธุรกิจต่างๆ รวมทั้งการจ้างงาน และการปลดพนักงาน และเป็นข้อมูลเศรษฐกิจที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสนใจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ