ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งค่าเทียบเงินสกุลหลัก รับถ้อยแถลงเยลเลน, ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 28, 2017 07:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (27 ก.ย.) โดยดอลลาร์ยังคงได้รับแรงหนุนจากถ้อยแถลงของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งส่งสัญญาณสนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปีนี้ ถึงแม้ทิศทางเงินเฟ้อยังคงไม่แน่นอนก็ตาม นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้ปัจจัยบวกจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.1752 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1800 ดอลลาร์ ในขณะที่ปอนด์อ่อนค่าลงแตะ 1.3399 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3458 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลง ที่ระดับ 0.7860 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7893 ดอลลาร์

ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเยน ที่ระดับ 112.87 เยน จากระดับ 112.15 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9722 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.9690 ฟรังก์สวิส

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.44% สู่ระดับ 93.376 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐยังคงได้รับแรงหนุนให้แข็งค่าขึ้นจากถ้อยแถลงของนางเยลเลนเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยนางเยลเลนกล่าวว่า เป็นเรื่องที่เหมาะสมหากเฟดจะเดินหน้าคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐจะยังอยู่ในทิศทางที่ไม่แน่นอนก็ตาม

ประธานเฟดกล่าวด้วยว่า การคุมเข้มนโยบายการเงินแบบรวดเร็วเกินไปนั้น จะส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ แต่หากเฟดถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินช้าจนเกินไป ก็อาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐตกอยู่ในภาวะที่ร้อนแรงเกินไป ในขณะที่ตลาดแรงงานอยู่ในทิศทางที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง

ดอลลาร์สหรัฐยังได้แรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญที่มีการเปิดเผยเมื่อวานนี้ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนส.ค. โดยได้ปัจจัยหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อเครื่องบินพาณิชย์ และรถยนต์

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2/2560, สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนส.ค. และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนส.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ