ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งเทียบเงินเยน หลังวุฒิสภาสหรัฐผ่านร่างกฎหมายงบประมาณ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 23, 2018 07:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนและฟรังก์สวิส ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (22 ม.ค.) หลังจากวุฒิสภาสหรัฐได้ลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้วน ให้ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเมื่อวานนี้ตามเวลาสหรัฐ ซึ่งเป็นความพยายามในการยุติภาวะการปิดหน่วยงานรัฐบาล หรือชัตดาวน์

ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 110.99 เยน จากระดับ 110.62 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9625 ฟรังก์ จากระดับ 0.9618 ฟรังก์

ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.2257 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2235 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.3982 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3875 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.8012 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.8002 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์ได้ปัจจัยหนุนหลังจากวุฒิสภาสหรัฐลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้วน 81 ต่อ 18 เสียง ให้ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเมื่อวานนี้ ก่อนที่จะส่งไปให้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเพื่อทำการพิจารณาต่อไป โดยร่างงบประมาณดังกล่าวจะช่วยให้รัฐบาลสหรัฐมีงบประมาณในการบริหารประเทศจนถึงวันที่ 8 ก.พ.

การที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบอย่างท่วมท้นในการลงมติรอบแรกนั้น เนื่องจากวุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตจำนวนมากที่ได้คัดค้านร่างงบประมาณดังกล่าวในการลงมติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้หันกลับมาให้ความเห็นชอบ หลังจากที่นายมิทช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากของพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา เห็นพ้องที่จะมีการอภิปรายร่างกฎหมายเกี่ยวกับผู้อพยพก่อนวันที่ 8 ก.พ.

ทั้งนี้ หากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติเห็นชอบต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ก็จะส่งต่อไปให้กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อลงนามให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดัชนีการผลิตเดือนม.ค. โดยเฟดสาขาริชมอนด์, ดัชนีราคาบ้านเดือนพ.ย., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้นเดือนม.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนม.ค.จากมาร์กิต, ยอดขายบ้านมือสองเดือนธ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนธ.ค., ยอดขายบ้านใหม่เดือนธ.ค., ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนธ.ค. และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4/2560

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 30-31 ม.ค.นี้ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ