ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนเทียบค่าเงินหลัก เหตุนลท.ลดแรงซื้อดอลล์หลังตลาดหุ้นพุ่งแรง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 13, 2018 07:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับยูโรและสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (12 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนลดการถือครองดอลลาร์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากตลาดหุ้นวอลล์สตรีททะยานขึ้นแข็งแกร่งติดต่อกัน 2 วันทำการ ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นปัจจัยบ่งชี้ถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.2285 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2234 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.3830 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3806 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.7845 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7790 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 108.68 เยน จากระดับ 108.49 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9389 ฟรังก์ จากระดับ 0.9387 ฟรังก์

นักลงทุนเทขายสกุลเงินดอลลาร์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย และหันไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่นหุ้น หลังจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กดีดตัวขึ้นแข็งแกร่งติดต่อกันเป็นวันที่ 2 โดยปัจจัยล่าสุดมาจากรายงานข่าวที่ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 วงเงิน 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ต่อสภาคองเกรสเมื่อวานนี้ โดยมีการเพิ่มรายจ่ายด้านกลาโหม และการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภค

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนม.ค.ในวันพุธ และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในวันพฤหัสบดี ซึ่งหากตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ก็อาจส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือนม.ค., ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)เดือนม.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนธ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนก.พ. จากเฟดนิวยอร์ก, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนม.ค., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค., ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนม.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนก.พ.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ