ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนเทียบค่าเงินหลัก หลังนักลงทุนซึมซับตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 15, 2018 07:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (14 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนซึมซับตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่พุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนม.ค. โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนม.ค. ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 107.04 เยน จากระดับ 107.68 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9303 ฟรังก์ จากระดับ 0.9342 ฟรังก์

ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.2444 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2363 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.3995 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3886 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.7918 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7859 ดอลลาร์สหรัฐ

ในช่วงแรกนั้น ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 0.5% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 0.3% และหากเทียบเป็นรายปี ดัชนี CPI ทรงตัวที่ระดับ 2.1% ในเดือนม.ค. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 1.9%

ทั้งนี้ ดัชนี CPI ที่พุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนม.ค.สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในสหรัฐ และยังส่งผลให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์อ่อนค่าลงในเวลาต่อมา เนื่องจากนักลงทุนเริ่มซึมซับข้อมูลเงินเฟ้อดังกล่าว

คริส โลว์ นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทหลักทรัพย์เอฟทีเอ็น ไฟแนนเชียล กล่าวว่า ดอลลาร์ได้รับแรงกดดันในระดับหนึ่ง จากตัวเลขค้าปลีกที่ย่ำแย่ของสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกร่วงลง 0.3% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปีที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% โดยยอดค้าปลีกที่ปรับตัวลงในเดือนม.ค.นั้น ได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของคำสั่งซื้อวัสดุก่อสร้าง และยอดขายรถยนต์

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนก.พ. จากเฟดนิวยอร์ก, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนม.ค., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค., ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนม.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนก.พ.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ