ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนเทียบสกุลเงินหลัก หลัง"ทรัมป์"ยกเลิกซัมมิต"คิม จอง อึน"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 25, 2018 07:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (24 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ตัดสินใจยกเลิกการประชุมสุดยอดกับนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ ข้อพิพาทด้านการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังเป็นอีกปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อดอลลาร์เช่นกัน

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.30 เยน จากระดับ 110.08 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9915 ฟรังก์ จากระดับ 0.9962 ฟรังก์

ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1727 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1700 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3385 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3351 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.7577 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7563 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์ได้รับปัจจัยกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือ หลังจากปธน.ทรัมป์ได้ตัดสินใจยกเลิกการประชุมสุดยอดกับนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 12 มิ.ย.ที่สิงคโปร์

ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์ได้ระบุในจดหมายที่ส่งถึงนายคิมและได้มีการเผยแพร่เมื่อวานนี้ว่า "เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากแถลงการณ์ล่าสุดของท่านซึ่งได้แสดงความโกรธ และความมุ่งร้ายอย่างเปิดเผย ผมรู้สึกว่ายังไม่เป็นการเหมาะสมในขณะนี้ที่จะมีการจัดการประชุมดังกล่าวที่มีการวางแผนมาอย่างยาวนาน"

ขณะเดียวกันข้อพิพาทด้านการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังเป็นอีกปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อดอลลาร์ หลังจากปธน.ทรัมป์ได้สั่งการให้นายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์ ทำการตรวจสอบว่า รถยนต์และรถบรรทุกที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติหรือไม่ โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดของปธน.ทรัมป์ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลว่า รัฐบาลสหรัฐอาจเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ในอัตราสูงถึง 25%

นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐยังเป็นปัจจัยลบต่อดอลลาร์เช่นกัน โดยสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองร่วงลง 2.5% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 5.46 ล้านยูนิต ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 0.2%

ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 11,000 ราย สู่ระดับ 234,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 220,000 ราย ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 6,250 ราย สู่ระดับ 219,750 รายในสัปดาห์ที่แล้ว

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในวันนี้ ซึ่งได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนเม.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเดือนพ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ