(เพิ่มเติม1) ฟิทช์ชี้อันดับความน่าเชื่อถือของไทยยังได้แรงหนุนจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 1, 2014 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ซึ่งได้จัดการประชุมขึ้นในวันนี้ เปิดเผยว่า อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศและสถาบันการเงินของไทยยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความแข็งแกร่งของปัจจัยพื้นฐาน แม้ว่ามีปัจจัยเสี่ยงช่วงขาลง ซึ่งรวมถึงการขยายตัวที่ค่อนข้างจะอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก และภาวะแวดล้อมด้านการดำเนินงานภายในประเทศที่มีความท้าทาย

มร.เจมส์ แมคคอร์แมค ประธานฝ่าย Global Head of Sovereigns กล่าวว่า ขณะที่อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศต่างๆในกลุ่มตลาดพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในยูโรโซน มีเสถียรภาพในปี 2557 แต่หนี้สินของรัฐบาลก็ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการคลังอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับประกันเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากขึ้น ท่ามกลางแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอ

ส่วนอันดับความน่าเชื่อถือในตลาดเกิดใหม่ยังคงทรงตัวในปีนี้ โดยมีการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือน้อยลง และเปลี่ยนแปลงแนวโน้มน้อยลงเช่นกัน ขณะที่การปรับนโยบายการเงินของสหรัฐสู่ภาวะปกติมากขึ้นนั้น มีแนวโน้มว่าจะสร้างแรงกดดันอยู่บ้างต่อภาวะแวดล้อมด้านการระดมทุนในต่างประเทศของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ แม้ว่าเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในเอเชียส่วนใหญ่ รวมทั้งประเทศไทย อยู่ในสถานภาพที่ค่อนข้างดีในด้านนี้

ทั้งนี้ อันดับความน่าเชื่อถือของไทยได้รับแรงหนุนจากความแข็งแกร่งด้านการเงินในต่างประเทศ หนี้สาธารณะที่ลดลง และกรอบนโยบายการเงินที่มีความน่าเชื่อถือ โดยความแข็งแกร่งของปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ช่วยให้ไทยสามารถฟื้นตัวจากภัยธรรมชาติและความผันผวนทางการเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3-3.5% ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นตัวเลขที่ซบเซาเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างต่ำเป็นความท้าทายที่กลุ่มธุรกิจประกันของไทยกำลังเผชิญ ในขณะเดียวกัน ธุรกิจประกันชีวิตของไทยก็ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านอื่นๆ เช่นเดียวกันกับที่ธุรกิจประกันชีวิตในภูมิภาคเผชิญ นายเจฟฟรี่ ลิ่ว หัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตธุรกิจประกัน ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของฟิทช์กล่าว

นายลิ่วกล่าวว่า ในอนาคตธุรกิจประกันชีวิตทั่วทั้งภูมิภาค รวมถึงประเทศไทย จะถูกปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป กฎเกณฑ์ข้อบังคับที่เข้มงวดขึ้น และการปรับสัดส่วนการลงทุน บริษัทประกันชีวิตบางรายมองว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นโอกาสในการสร้างสถานะทางการตลาดของตนให้เข้มแข็ง การทบทวนกลยุทธ์ทางธุรกิจอาจเป็นหัวใจสำคัญสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ในการรักษาความสามารถในการแข่งขันของตนไว้

ทางด้านนายแอมบรีช ศรีวาสตา หัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของฟิทช์ กล่าวว่า สภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคยังคงเป็นความท้าทายสำหรับสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งได้แก่ ความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของสินเชื่อ การเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือน และความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับประเทศจีนที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารในภูมิภาคส่วนใหญ่มีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง และน่าจะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงแนวโน้มอันดับเครดิตที่มีเสถียรภาพของธนาคารส่วนใหญ่ในภูมิภาค ธนาคารของไทยก็เช่นเดียวกัน มีการเพิ่มความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในระดับที่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งเห็นได้จากการดำรงเงินกองทุนและเงินสำรองของธนาคาร เศรษฐกิจของไทยที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมามิได้ส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มาก และธนาคารในประเทศน่าจะรักษาเสถียรภาพไว้ได้ถ้าเศรษฐกิจชะลอตัวตามวัฏจักรปกติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ