(เพิ่มเติม) ฟิทช์คงอันดับเครดิต AIS ที่ 'BBB+'/'AA+(tha)', AWN ที่ 'AA+(tha)'

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 15, 2016 17:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ที่ 'BBB+' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ AIS ที่ 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ยังได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ที่ระดับ 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

การลงทุนที่สูง, ความสามารถในการรองรับหนี้สินที่เพิ่มโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตที่ลดลง: ฟิทช์เชื่อว่า AIS ซึ่งชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1.8GHz และ 900MHz ในเดือนพฤศจิกายน 2558 และพฤษภาคม 2559 มีความสามารถในการรองรับการลงทุนดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามความแข็งแกร่งทางการเงินของ AIS น่าจะปรับตัวลดลง และทำให้ความสามารถในการรองรับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทปรับตัวลดลง หนี้สินของ AIS น่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากการลงทุนที่สูงสำหรับค่าคลื่นความถี่และการขยายเครือข่าย โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อกำไรของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า กระแสเงินสดสุทธิ (Free cash flow) น่าจะติดลบ เนื่องจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท ไม่น่าจะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุน (รวมค่าคลื่นความถี่) และเงินปันผล ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ของ AIS จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.5 เท่า – 2.0 เท่า (ไม่รวมค่าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ค้างจ่ายจำนวน 9.67 หมื่นล้านบาท ณ เดือนพฤษภาคม 2559) ในช่วงสี่ปีข้างหน้า จาก 1.0 เท่า ณ สิ้นปี 2558

ความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบและนโยบายที่ลดลง: ความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบและนโยบายที่มีต่อ AIS ลดลงจากการที่บริษัทย้ายการดำเนินงาน และโอนย้ายฐานลูกค้าไปยังระบบใบอนุญาต ซึ่งมีความชัดเจนด้านกฎระเบียบและนโยบายมากกว่าระบบสัมปทานเดิม อย่างไรก็ตาม AIS ต้องจ่ายค่าคลื่นความถี่ที่สูง ซึ่งจะลดทอนผลประโยชน์จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีที่อยู่ในระดับต่ำกว่าส่วนแบ่งรายใด้ในระบบสัมปทานเดิม ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและนโยบายที่ลดลงน่าจะช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตของ AIS แม้ว่าฐานะทางการเงินของบริษัทจะอ่อนแอลง

ความแข็งแกร่งด้านการให้บริการด้านข้อมูลที่ดีขึ้น: AIS น่าจะยังคงได้รับประโยชน์จากการเติบโตของการใช้บริการด้านข้อมูล เนื่องจากคุณภาพโครงข่ายของบริษัทที่ดี AIS มีการลงทุนที่สูงเพื่อขยายเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ในช่วงสามปีที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มขยายเครือข่ายโทรศัทพ์เคลื่อนที่ระบบ 4G ในเดือนธันวาคม 2558 ทำให้คุณภาพการให้บริการด้านข้อมูลปรับตัวดีขึ้น ฟิทช์คาดว่าการที่ AIS ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ในเดือนพฤษภาคม 2559 จะทำให้สถานะด้านการแข่งขันสำหรับการบริการด้านข้อมูลของบริษัทปรับตัวดีขึ้น จากการที่เครือข่ายโทรศัทพ์เคลื่อนที่ของบริษัทสามารถรองรับปริมาณข้อมูลได้มากขึ้น และช่วยให้การขยายเครือข่ายของบริษัทมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การเติบโตของรายได้ในระดับต่ำ: ฟิทช์คาดว่ารายได้จากการให้บริการของ AIS ในปี 2559 น่าจะเติบโตในระดับ 1%-2% รายได้จากการให้บริการด้านข้อมูลน่าจะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่จะถูกลดทอนจากการหดตัวของรายได้จากการให้บริการด้านเสียง และข้อความสั้น (SMS) ซึ่งในไตรมาสแรกของปี 2559 รายได้จากการให้บริการของ AIS ปรับตัวลดลง 0.5% มาอยู่ที่ 3.01 หมื่นล้านบาท จาก 3.03 หมื่นล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2558

การแข่งขันที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร: ฟิทช์คาดว่าผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยจะยังคงใช้กลยุทธ์ในการส่งเสริมการขายที่รุนแรงในช่วงสองปีข้างหน้า ทั้งในรูปแบบการให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Handset subsidy) และการเสนอแพ็คเกจการใช้งานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง (Unlimited data offering) หรือแพ็คเกจที่ให้ปริมาณการใช้ข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของกำไรของผู้ประกอบการ ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด (Marketing expense) และการให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เพิ่มขึ้น น่าจะลดทอนผลประโยชน์จากค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้ภาครัฐ (Regulatory cost) ที่ปรับตัวลดลงของผู้ประกอบการ

กำไรลดลงในปี 2559: ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) ของ AIS จะปรับตัวลดลง 11% มาอยู่ที่ประมาณ 6.4 หมื่นล้านบาทในปี 2559 กำไรที่ลดลงเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการ ย้ายลูกค้า 2G ไปยังเครือข่าย 3G ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบการให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 บริษัทได้โอนย้ายลูกค้า 2G ไปยังเครือข่าย 3G จำนวน 5 ล้านราย ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายจากการให้ส่วนลดค่าเครื่องน่าจะปรับตัวลดลงหลังจากที่บริษัทชนะการประมูลคลื่น 900MHz ในเดือนพฤษภาคม 2559 และสามารถให้บริการเครือข่าย 2G ได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามบริษัทจะยังคงดำเนินการโอนย้ายลูกค้า 2G ไปยังเครือข่าย 3G ต่อไป แต่การโอนย้ายน่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งน่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการโอนย้ายลูกค้าไม่กระจุกตัวในปี 2559 ในไตรมาสแรกของปี 2559 บริษัทได้ใช้เงินจำนวน 3.4 พันล้านบาทสำหรับการให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์

ผู้นำตลาด: AIS สามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฟิทช์คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการให้อยู่ในระดับสูงกว่า 50% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า (2558: 52.7%) นอกจากนี้สถานะทางธุรกิจของ AIS ยังได้รับการสนับสนุนจากชื่อเสียงทางการค้าของบริษัทที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี และเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ครอบคลุมมากที่สุด

AIS และ AWN มีอันดับเครดิตเท่ากัน: อันดับเครดิตของ AWN เท่ากับอันดับเครดิตของ AIS โดยสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่าง AWN และ AIS ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria) AIS ถือหุ้นทั้งหมดใน AWN และมีอำนาจควบคุมการบริหารและการดำเนินงานของ AWN ทั้งหมด AWN เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G, 2.1GHz ในปี 2555 และ 4G, 1.8GHz ในปี 2558 และชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ในเดือนพฤษภาคม 2559 ดังนั้น AWN จึงมีความสำคัญต่อ AIS อย่างมากในฐานะเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบใบอนุญาตของกลุ่ม

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้จากการให้บริการเติบโต 1%-2% ต่อปี ในปี 2559 และ 2560
  • EBITDAR margin ในปี 2559 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 41% (2558: 46.6%) จากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการย้ายลูกค้า 2G ไปยังเครือข่าย 3G ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบการให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์ และปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2560 เป็นต้นไป
  • เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายอยู่ที่ 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2559 และ 2560
  • บริษัทมีการชำระค่าคลื่นความถี่ระหว่างปี 2559 – 2563 หลังจากบริษัทชนะการประมูลคลื่น 1.8GHz ในเดือนพฤศจิการยน 2558 และคลื่น 900MHz ในเดือนพฤษภาคม 2559
  • จ่ายเงินปันผลในระดับสูง

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยลบ

  • การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage สูงกว่า 2.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง (เดิมอยู่ที่ 1.5 เท่า)
  • การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย หรือกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมที่ส่งผลในแง่ลบต่อบริษัท

การเปลี่ยนแปลงปัจจัยลบที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตในส่วนของอัตราส่วนหนี้สินต่อกำไร เนื่องจากฟิทช์มองว่าความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบและนโยบายที่มีต่อ AIS ลดลง จากความเสี่ยงจากสัญญาสัมปทานที่ลดลง และความเสี่ยงจากการโอนย้ายลูกค้า 2G ไปยังเครือข่าย 3G ที่น้อยลง

ปัจจัยบวก

  • บริษัทมีกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) เป็นบวก
  • EBITDAR Margin ของบริษัทสูงกว่า 45% อย่างต่อเนื่อง (ในปี 2558 อยู่ที่ 45%)

อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าการปรับเพิ่มอันดับเครดิตไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้าเนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินต่อกำไรของบริษัทที่น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น

รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

-- อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ คงอันดับเครดิตที่ ‘BBB+’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

-- อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ คงอันดับเครดิตที่ ‘BBB+’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

-- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ ‘AA+(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

-- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F1+(tha)’

บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด

-- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ ‘AA+(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

-- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F1+(tha)’

-- อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ คงอันดับเครดิตที่ ‘AA+(tha)’


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ