(เพิ่มเติม) ฟิทช์เพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของ TMB สู่ระดับ 'F1+(tha)' พร้อมคงอันดับเครดิตแบงก์พาณิชย์ขนาดกลางของไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 24, 2017 17:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เป็น 'F1+(tha)' จากเดิม 'F1(tha)' พร้อมคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency Issuer Default Rating) ของธนาคาร พร้อมกันนี้ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK และบริษัททุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP ทั้งนี้แนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารทั้งหมด ‘มีเสถียรภาพ’

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BAY พิจารณาจากการสนับสนุนของผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบันการเงิน เนื่องจากฟิทช์มองว่า BAY เป็นบริษัทลูกที่มีบทบาทสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อ Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Ltd. (BTMU, ‘A’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นธนาคารแม่ที่มีสัดส่วนการถือหุ้นใน BAY ที่ 76.9% โดย BAY มีบทบาทสำคัญในการดำเนินกลยุทธ์ของกลุ่มในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นหนึ่งในบริษัทลูกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนอกประเทศญี่ปุ่นของ BTMU

อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ TMB พิจารณาจากปัจจัยความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร ซึ่งสะท้อนในอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) การปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของ TMB เป็น ‘F1+(tha)’ มีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ฟิทช์มองว่าฐานะสภาพคล่องและความสามารถในการระดมเงิน (liquidity and funding) ของธนาคารมีการปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับที่เทียบเคียงได้กับธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่มีอันดับเครดิตคล้ายกัน

อันดับเครดิตภายในประเทศของ TBANK สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเครือข่ายทางธุรกิจในระดับปานกลางของธนาคารในฐานะที่เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของประเทศไทยและเป็นผู้นำตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ อันดับเครดิตภายในประเทศของ TBANK ยังสะท้อนถึงฐานะทางการเงินโดยรวมของ TBANK ซึ่งได้ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านคุณภาพสินทรัพย์และฐานะเงินกองทุน TBANK ยังคงได้รับการสนับสนุนในการดำเนินงานปรกติ (ordinary support) ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนด้านการบริหารจัดการ การดำเนินงานและด้านวงเงินสินเชื่อแบบไม่ผูกพัน (uncommitted credit facility) จาก Bank of Nova Scotia (AA-/ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารอยู่ที่ 49%

แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ TCAP สอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ TBANK อันดับเครดิตภายในประเทศของ TCAP ถูกปรับลดลงมาจากอันดับเครดิตของ TBANK ซึ่งเป็นบริษัทลูกหลักในเครือ เพื่อสะท้อนถึงการด้อยสิทธิทางโครงสร้าง (structural subordination) ของ TCAP ในฐานะบริษัทโฮลดิ้ง และการที่ TBANK มีสัดส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย (minority interests) ในระดับสูง

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Ratings)

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY สะท้อนถึงโครงสร้างธุรกิจที่กระจายตัว ซึ่ง BAY เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย รวมทั้งการที่ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่ BTMU เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (majority stake) ใน BAY เมื่อปี 2556 กลุ่มธนาคารแม่ได้ดำเนินการเชื่อมโยงและผสานการดำเนินงาน (integration) ของ BAY เข้ากับทางกลุ่มในระดับที่สูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ทางกลุ่มธนาคารแม่ยังให้การสนับสนุนในการดำเนินงานปรกติ (ordinary support) เช่น การระดมทุนสกุลเงินต่างประเทศ การตลาด และการบริหารจัดการ

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TMB สะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรที่มีแน้วโน้มดีขึ้นและสภาพคล่องของธนาคารที่อยู่ในระดับดี ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของเงินฝากธุรกรรมทางการเงิน (transactional banking franchise) TMB เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 7 ในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 5% ของสินเชื่อรวมและเงินฝากรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 ธนาคารมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อนให้เกิดรายได้ที่ 140% ซึ่งน่าจะช่วยจำกัดความเสี่ยงจากการที่ธนาคารอาจต้องตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นมาก (provisioning risks) โดยเฉพาะจากกลุ่มลูกค้าสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ยังคงมีความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินเชื่อ

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Ratings) และอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floors)

อันดับเครดิตสนับสนุนของ BAY สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ BAY จะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากการสนับสนุนในด้านการดำเนินงานปรกติ (extraordinary support) จาก BTMU

อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ TMB พิจารณาจากปัจจัยการสนับสนุนจากภาครัฐ ฟิทช์เชื่อว่า TMB เป็นหนึ่งในธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินในประเทศและมีความเป็นไปได้ในระดับหนึ่งที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยหากมีความจำเป็น แม้ว่าความเป็นไปได้ที่จะได้รับการสนับสนุนนั้นอาจน้อยกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในประเทศไทย

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิและหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนอื่น

หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ทั้งตามเกณฑ์บาเซล 2 และเกณฑ์บาเซล 3) ของ BAY และ TMB ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของแต่ละธนาคารอยู่หนึ่งอันดับ เพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss-severity risks) ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิเนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะด้อยสิทธิ และไม่ได้มีการบังคับตัดหนี้สูญทั้งจำนวน (mandatory full write-down) ทั้งนี้ไม่ได้มีการปรับลดอันดับเครดิตเพิ่มเติมเพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นกู้จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์ (non-performance risk) เนื่องจากข้อกำหนดสิทธิที่สำคัญของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่ได้มีการระบุถึงคุณสมบัติที่สามารถรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินงาน (going-concern)

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BAY อาจเปลี่ยนแปลงได้จากการเปลี่ยนแปลงของสมมติฐานของฟิทช์ต่อความสามารถหรือโอกาสที่ BTMU จะให้การสนับสนุนแก่ BAY อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ BAY อยู่ในระดับเดียวกับเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย (Country Ceiling) และอันดับเครดิตภายในประเทศก็อยู่ในระดับที่สูงสุดแล้วสำหรับอันดับเครดิตภายในประเทศ ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสที่จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับ อันดับเครดิตของ BAY อาจได้รับผลกระทบในเชิงลบหากอันดับเครดิตของ BTMU ถูกปรับลดอันดับ หรือความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ BAY ต่อ BTMU ลดลง (ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสที่ได้รับการสนับสนุนที่ต่ำลง)

สำหรับ TMB อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร อันดับเครดิตภายในประเทศของ TMB จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเช่นกัน แต่ทั้งนี้อันดับเครดิตภายในประเทศอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับโดยที่อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในกรณีที่ฐานะทางการเงินของ TMB ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศไทย

อันดับเครดิตภายในประเทศของ TBANK อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หากอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของ TBANK ยังคงปรับตัวดีขึ้นและสามารถรักษาให้อยู่ในระดับดีต่อเนื่องตลอดช่วงวัฏจักรธุรกิจ โดยเฉพาะในด้านคุณภาพสินทรัพย์ เงินกองทุน และการทำกำไร แต่ในทางกลับกันฟิทช์อาจปรับลดอันดับเครดิตของ TBANK หากความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารปรับตัวกลับมาในทิศทางที่ด้อยลงต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ทางฟิทช์อาจปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ TBANK หาก Bank of Nova Scotia ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในธนาคาร แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง

การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตภายในประเทศของ TBANK น่าจะส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของ TCAP

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากการร่วมมือและผสานการดำเนินงานของ BAY กับ BTMU ส่งผลให้ธนาคารมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่องในด้านธุรกิจและระดับเงินกองทุนโดยที่ความเสี่ยงที่ธนาคารยอมรับได้ (risk appetite) ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในทางกลับกันอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY อาจถูกปรับลดอันดับหากคุณภาพสินทรัพย์และเงินกองทุนมีการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง หรือหากธนาคารมีสภาพคล่องที่ปรับตัวแย่ลงอย่างมาก

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TMB อาจถูกปรับลดอันดับหากธนาคารมีคุณภาพสินทรัพย์ อัตรากำไร สภาพคล่อง หรืออัตราส่วนเงินกองทุนที่ปรับตัวแย่ลงอย่างมาก ในทางกลับกันอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากธนาคารสามารถรักษาอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญโดยรวมให้ปรับตัวดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ

อันดับเครดิตสนับสนุนของ BAY ที่ ‘1’ อาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากการลดลงของโอกาสที่ BTMU จะให้การสนับสนุนแก่ BAY ทั้งนี้อาจสะท้อนได้จากการปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นลงอย่างมีนัยสำคัญหรือการลดลงของการเชื่อมโยงในการดำเนินงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น อันดับเครดิตสนับสนุนของ BAY อาจได้รับผลกระทบจากการปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ BTMU ได้เช่นกัน

ฟิทช์อาจเปลี่ยนอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘3’ และอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ ‘BB+’ ของ TMB หากฟิทช์เชื่อว่ามีการเปลี่ยนแปลงในความสำคัญของ TMB ต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินในประเทศ เช่นหากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของส่วนแบ่งทางการตลาดของ TMB ทั้งในด้านสินเชื่อและเงินฝาก อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ BAY และ TMB จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันจากปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารแต่ละแห่ง

รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมด มีดังนี้

BAY

  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับเครดิตที่ ‘A-’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F2’
  • อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับเครดิตที่ ‘bbb’
  • อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับเครดิตที่ ‘1’
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ ‘AAA(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F1+(tha)’
  • อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน คงอันดับเครดิตที่ ‘AAA(tha)’
  • อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน (ตามเกณฑ์บาเซล 2) คงอันดับเครดิตที่ ‘AA+(tha)’
  • อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) คงอันดับที่ ‘AA+(tha)’

TMB

  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ ‘BBB-’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ ‘F3’
  • อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ ‘bbb-’
  • อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ ‘3’
  • อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ คงอันดับที่ ‘BB+’
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ ‘A+(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น ปรับเพิ่มอันดับเป็น ‘F1+(tha)’ จาก ‘F1(tha)’
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ของโครงการหุ้นกู้ Euro Medium-Term Note มูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คงอันดับที่ ‘BBB-’
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับเคดดิตที่ ‘BBB-’
  • อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) คงอันดับที่ ‘A(tha)’
  • อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ (ตามเกณฑ์บาเซล 2) คงอันดับที่ ‘A(tha)’

TBANK

  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ ‘A+(tha)’ / แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F1+(tha)’

TCAP

  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ ‘A(tha)’ / แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F1(tha)’

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ