ชำแหละ 20 ปี “ประกันสังคมไทย” ก้าวจากนี้ไปเจออะไรบ้าง

ข่าวทั่วไป Wednesday October 27, 2010 08:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จัดงานฉลองครบรอบ 20 ปีอย่างยิ่งใหญ่ ณ ห้องรอยัลจูบิลี่บอลรูม อิมแพ็คเมืองทองธานี โดยได้โชว์พัฒนาการเจริญเติบโตของกองทุนประกันสังคมที่ขณะนี้ (ปี 2553) มีเงินสะสมกว่า 735, 695 ล้าน จากปีแรกคลอดกองทุนที่มีเงินทุนสะสมเพียง 1,890 ล้านบาท พร้อมกับโชว์ทิศทางการทำงานในปีที่ 21 ภายใต้พันธกิจหลัก “ประกันสังคมยุคใหม่ เพื่อสังคมไทยที่เข้มแข็ง” และมีการเปิดเวทีเสวนา-อภิปรายการทำงานที่ผ่านมา และทิศทางการทำงานต่อไปที่สปส.ควรจะเป็น จากวิทยากรหลายท่านที่ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ซึ่งเวทีเสวนาตลอดวันนั้นได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานกว่าพันคนจวก 20 ปีไทย “ไม่มีประกันสังคม” มีแค่ “ประกันลูกจ้าง-แรงงาน” เริ่มต้นเวทีเสวนาแรกในหัวข้อ “ก้าวต่อไปของการประกันสังคม” กับศาสตราภิชาน รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์เศรษฐศาสตร์แห่งรั้วจามจุรี นักวิชาการด้านแรงงานเบอร์หนึ่งของเมืองไทย ที่เริ่มตั้งโจทย์การทำงานของสปส.ผ่าน 2 คำถามสะท้อนกลับ ดังนี้ 1.สปส.จะก้าวต่อไปนั้นมีจุดหมายคืออะไร 2.ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาของการมีประกันสังคมนั้นทำงานเป็นอย่างไร ไปถึงจุดไหนของสังคมแล้วบ้าง “ต้องยอมรับว่าวันนี้เราไม่ได้ประกันสังคมตามชื่อ ที่ประกันให้ทุกคนในสังคม แต่เราเป็นได้แค่ระบบประกันแค่กลุ่มคนลูกจ้าง แรงงาน คนในระบบแรงงานซึ่งมีสปส.ครอบคลุมคนประมาณแค่ 8 ล้านคนเท่านั้น ขณะที่ในสังคมไทยมีคนทำงานกว่า 38 ล้านคน แต่ระบบประกันสังคมของเราไปไม่ถึง อีก 24 ล้านคนตกหล่นจากระบบการดูแล ยังเข้าไม่ถึงประกันสังคม”นี่คือ ภาพการทำงานของประกันสังคมที่ผ่านมา ซึ่งรศ.แล สะท้อนให้เห็น รศ.แล ระบุชัดว่าก้าวต่อไปของการประกันสังคมนั้น 1.ทำให้ประกันสังคมครอบคลุมทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบด้วย ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ สปส.ต้องคุ้มครองคนเหล่านี้ และ 2.อย่าเพิ่งพูดถึงคนนอกกลุ่มแรงงาน เช่น คนชราภาพ แต่ควรจะทำเรื่องคนกลุ่มแรงงานนี้ให้ดีก่อน เพราะขณะนี้คนกลุ่มนี้ยังได้รับการดูแลไม่ทั่วถึง “อย่าอ้าขาผวาปลีก ว่าเราจะดูแลคนทั้งสังคม ทั้งที่เรายังดูแลคนได้เพียง 8 ล้านคนเศษ ขณะที่อีก 24 ล้านคนเรายังไม่ดูแล ยังไปไม่ถึง ไหนจะแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ถูกคุ้มครองอีก ที่เรายังใช้แรงงานต่างด้าวแบบผิดกฎหมายอยู่ ถามว่า เราใช้เขาเหล่านั้นสมกับความเป็นมนุษย์มากน้อยแค่ไหน ทั้งที่คนกลุ่มนี้สร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้กับเรามากมายมหาศาล สร้างจีดีพีให้เรา แต่วันนี้เราคุ้มครองเขาแค่ไหน” รศ.แล ฉายภาพให้เห็นชัดยิ่งขึ้น สำหรับประเด็นที่ต้องเน้นหนักในการทำงานต่อไปของประกันสังคม รศ.แล ยืนยันว่า สปส.ต้องทำให้ผู้ใช้แรงงานได้รับการปฏิบัติในฐานะที่มีความเป็นมนุษย์เสมอกันโดยสมบูรณ์ ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ใช้แรงงานถูกมองและถูกกระทำเป็นเพียงทรัพยากรมนุษย์ สปส.ต้องเรียกคืนความเป็นมนุษย์ของแรงงานกลับมา และเมื่อคนเหล่านี้ตกงาน สปส.ต้องทำให้เขาไม่ตกเงินด้วย ได้รับการจ่ายทดแทนดูแล มีเงินยามตกงาน ซึ่งขณะนี้ยังมีช่องว่างกฎหมายแรงงานในลักษณะนี้อยู่ และในฐานะที่เป็นที่ปรึกษาคนแรกของการมีรมต.แรงงานนั้น อยากฝากให้การทำงานของกระทรวงแรงงานต้องก้าวข้ามให้พ้นจากการทำงานที่ทับซ้อนกระทรวงมหาดไทยให้ได้ อย่าทำตนเป็นมหาดไทย 2 จี้สปส.ทำการบ้าน “ประชาสัมพันธ์” สื่อสารสังคม ปรับทัศนคติ-สร้างความเข้าใจสิทธิประกันตน จากนั้น รศ.ดรเสรี วงศ์มณฑา ในฐานะนักวิชาการทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสารมวลชนและการสื่อสารการตลาด ได้ฝากให้สปส.กลับไปทำการบ้านเรื่องการประชาสัมพันธ์ที่ต้องเน้นการ “บูรณาการ” การทำงาน ที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ให้นึกถึงทุกคนที่เกี่ยวข้องด้วย พร้อมเสนอให้สปส.ควรทำการวิจัยเกี่ยวกับผู้ประกันตนที่ได้ใช้บริการแล้วว่า รู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง และอยากเห็นอะไรจากประกันสังคมบ้าง โดยรศ.ดร.เสรี ฝากหลักการทำงาน K A P คือ 1.Knowledge หรือความรู้ ถามว่า “วันนี้ทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องระบบประกันสังคมกันมากพอหรือยัง ทั้งบุคคลากรของรัฐ เจ้าหน้าที่ของประกันสังคม ผู้ประกอบการ และตัวลูกจ้างผู้เอาประกัน” รศ.ดร.เสรี บอกต้องยอมรับว่า การสื่อสารประชาสัมพันธ์ของสปส.ยังน้อยเกินไป หมดไปกับการทุ่มเงินทำสปอตโฆษณาทางทีวี ซึ่งไม่ก่อให้เกิดการกระจายความรู้ความเข้าใจ จึงควรนำการสื่อสารทางการตลาดแบบบูรณาการหรือ IMC มาสื่อสารกับสังคม เน้นเนื้อหาสื่อสารที่ต้องให้ความรู้และสร้างความเข้าใจอย่างกระจ่างชัดในเรื่องระบบการประกันสังคมที่สื่อออกไป เพราะเมื่อเกิดความรู้ความเข้าใจก็จะส่งผลต่อทัศนคติที่ประชาชนมีต่อสปส.เองด้วย 2. Attitude หรือทัศนคติ รศ.ดร.เสรี บอกคือสิ่งที่ต้องปรับปรุง เพราะ “วันนี้ผู้เอาประกันถูกมองเป็นประชาชนชั้นสอง ทั้งจากตัวเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการเอง ทำให้ได้รับบริการที่ไม่ดี ป้ายใหญ่ๆ ด้านบนที่ระบุว่าใช้สิทธิประกันสังคมมาด้านนี้ ก็ใช่เลย ทัศนคติของผู้ดูแลผู้ประกันตนยังมีทัศนคติที่มองเขาเป็นบุคคลชั้นสอง หลายคนรู้สึกว่าถ้าไปในฐานะผู้จ่ายเงินจะได้รับการดูแลและการพูดจาอีกแบบหนึ่ง ขณะที่ผู้ประกันตนก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งต้องถามว่า ทำไมทัศนคติแบบนี้จึงเกิดขึ้นกับคนในสังคม ทำไมผู้ประกันตนจึงรู้สึกว่าตนเป็นบุคคลชั้นสอง เป็นบุคคลต่ำต้อยด้อยค่า ฉะนั้นสปส.ต้องทำให้ผู้รับบริการมีทัศนคติที่ดีต่อการประกันตน และต้องทำให้ผู้ประกอบการก็ต้องมีทัศนคติที่ดีด้วย ไม่ใช่ยังมองว่าการประกันตนทำให้เป็นการเพิ่มต้นทุนให้เขา” และ 3. Practice หรือการปฏิบัติงาน รศ.ดร.เสรี ย้ำให้สปส.ต้องทำให้ผู้ประกันตนรู้ว่าสามารถใช้สิทธิได้ที่ไหน อย่างไรได้บ้าง ต้องทำตรงนี้ให้กระจ่างชัด เพราะฉะนั้นโรงพยาบาลคือด่านหน้าของสปส. ฉะนั้นต้องปรับปรุงทัศนคติของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานด้วย และเรื่องการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายนั้นควรทำให้สะดวก ง่าย และไม่ยุ่งยากสำหรับผู้ประกอบการให้มากกว่านี้ เพราะทุกวันนี้การจดทะเบียนแรงงานด้าวด้าวยากกว่าการขอวีซ่าสหรัฐอเมริกาเสียอีก ดังนั้นสำมะหาอะไรที่จะให้เขามาเข้าประกันสังคม เพราะแค่นี้ก็ยุ่งยากมากพอแล้ว เช่นเดียวกับนางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ส.ส.กาฬสินธุ์ ในฐานะนักสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน ก็เห็นด้วยที่ สปส.ต้องทำงานประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกทราบ รู้ เข้าใจในสิทธิให้มากๆ กว่านี้ รวมถึงต้องทำให้ผู้ประกอบการ ประชาชนรู้สิทธิของตนตั้งแต่ภายในสถานประกอบการที่ทำงาน ซึ่งขณะนี้ตนห่วงเรื่องกองทุนเงินทดแทนมากเพราะคนยังไม่เข้าใจ ทั้งนี้ส.ส.รัชฎาภรณ์ ยังเสนอให้สปส.ต้องพยายามให้ครอบคลุมคนในสังคมให้มากที่สุด เช่น ขณะนี้ครูโรงเรียนเอกชนยังตกหล่น ไม่ครอบคลุมถึง ในระหว่างที่รอกฎหมายเฉพาะสวัสดิการของครูโรงเรียนเอกชน, ให้สปส.ดูแลในเรื่องของปัจจัย 4 ให้สมาชิกในระบบประกันสังคมให้ดีก่อน ในที่นี้ควรดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยให้ดีตามอัตภาพก่อน อย่าเพิ่งไปทำในเรื่องอื่นๆ มากนัก, ควรแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เน้นที่ประเด็นการทำให้บริการครอบคลุมทั่วถึงคนในสังคมให้มากกว่าแค่การมาแก้กฎหมายในประเด็นคุณสมบัติสมาชิก ส่วนสถานประกอบการก็เสนอให้ควรมีแผนกอาชีวอนามัยด้วย “แม้วันนี้ประกันสังคมมีเงินอยู่ 7 แสนล้านบาทในกองทุนก็อย่าภูมิใจมากเกินไป เพราะจะไม่มีประโยชน์ถ้าเราไม่ดูแลประชาชนในระบบที่ครอบคลุมอยู่ให้มีศักดิ์ศรีได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันก่อน สิ่งที่สปส.พูดออกไปนั้น ต้องทำที่พูดให้ได้ด้วย และต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกันตนรับรู้ เข้าใจ ทราบในสิทธิที่ตนมี และถ้าท่านจะแก้ไขกฎหมายอย่าแก้กฎหมายอย่างเดียว แต่ต้องบทำให้คนรู้ เข้าใจ สิทธิตนด้วย” ห่วง “7แสนล้านบาท” ไม่พอจ่ายคืนสมาชิกชราภาพ โจทย์ด่วน “บริหารกองทุนประกันสังคม” ขณะเดียวกัน เวทีอภิปราย “การปฏิรูปการประกันสังคม กรณีชราภาพ: ประสบการณ์ที่เป็นบทเรียนสำหรับประเทศไทย” ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ในฐานะนายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เริ่มเปิดประเด็นถอดประสบการณ์จากต่างประเทศเกี่ยวกับระบบบำนาญชราภาพที่ต่างประเทศมีมากว่า 100 ปีแล้ว โดยที่ระบบเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกันตนมากมายจนเงินสะสมไม่เพียงพอ มีผลกระทบต่อการคลัง กระทบต่อการลงทุน จนในที่สุดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาต้องปฏิรูประบบเพื่อให้ระบบอยู่รอด เรียกว่า Pension Reform กลุ่มประเทศที่ประสบปัญหาใหญ่โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ปฏิรูประบบฯ ดร.พิสิฐ อธิบายผลหลังจากปฏิรูประบบบำนาญชราภาพในต่างประเทศด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีการปฏิรูประบบประกันสังคม คือ ทำให้คนชรา คนวัยกลางคนที่ส่งเงินประกันตนอยู่ต่างไม่พอใจในสิทธิที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ถูกลิดรอนหรือตัดสิทธิไปมาก ทำให้การปฏิรูประบบถูกมองว่าเป็นการไปกระทบสิทธิของผู้ประกันตน ก่อนจะย้ำถึงบทเรียนจากนานาประเทศสำหรับประเทศไทยในการจัดระบบบำนาญชราภาพว่า “การที่เราจะสร้างระบบประกันสังคมแล้วให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ นานาที่เยอะเกินไป ให้เกินตัว ให้มากเกินไป เวลาจะถอนสิทธิเหล่านั้นออก หรือแก้ไขนั้นยากมาก ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเป็นเรื่องที่เรื้อรัง รัฐบาลใดที่แตะเรื่องนี้ก็จะอยู่ได้ไม่นาน จนสุดท้ายประเทศเหล่านั้นใช้ทางออกโดยให้มีการเลือกตั้งว่าจะเอาระบบประกันสังคมแบบใด ดังนั้น ต้องทำให้คนในสังคมเห็นตรงกันว่าการให้ประโยชน์ประกันตนที่มากเกินไปจะมีผลต่อระบบในระยะยาว” สำหรับการสร้างระบบประกันสังคมที่ดีนั้น ดร.พิสิฐยืนยันว่าจะต้องจัดสิทธิประโยชน์แบบพอสมควร โดยระบบที่ดีนั้นมี 3 หลักในการพิจารณา 1.มีความลักษณะเป็น Welfare การให้ประโยชน์แก่ประชาชน โดยรัฐเป็นผู้ให้ หรือประกันสังคม 2.บังคับประชาชนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนด้วย เช่นเดียวกับลักษณะของกบข. (กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ) และ3.จ่ายเงินสมทบตามความสมัครใจ เช่นเดียวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เป็นระบบเดียวที่ประเทศไทยมีอยู่ “ปัจจุบันทั้งสามระบบนี้ประเทศไทยเพิ่งเริ่มนำมาใช้ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาจึงยังไม่มีการจ่ายออก แต่สุดท้ายแล้วเราต้องมาดูด้วยว่าสิทธิประโยชน์ที่เราให้อยู่นั้นจะทำให้เงินสะสมในกองทุนร่อยหรอลงหรือไม่ และเมื่อถึงเวลาจ่ายออกนั้นจะทำให้กองทุนร่อยหรอหรือไม่ด้วย ดังนั้นในช่วงหลังนี้ประเทศต่างๆ จึงสนับสนุนให้เกิดระบบออมแบบบังคับและสมทบตามความสมัครใจ เพราะฉะนั้นเรื่องการบริหารจัดการกองทุนนั้นจึงเป็นประเด็นใหญ่ในเวลานี้ของประเทศไทย” นี่คือสิ่ง ดร.พิสิฐ ฉายภาพทางออกให้เห็น พร้อมยืนยันว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะไม่มีปัญหาเพราะเป็นลักษณะใครออมมากก็ได้สิทธิประโยชน์มาก ออมน้อยก็ได้น้อย เช่นเดียวกับ มิสเซลีน เซลิกซ์ ผู้แทนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ที่เสนอให้การปฏิรูประบบบำนาญชราภาพนี้ ในระยะสั้นต้องกำหนดมาตรการเพื่อให้ความคุ้มครองผู้ที่กำลังจะเกษียณอายุในปัจจุบัน ส่วนระยะยาวต้องมีการทบทวนระบบบำนาญขิงประเทศต่างๆ ในโลก ในเรื่องการปฏิรูปจำนวนบำนาญขั้นต่ำและอัตราเงินบำนาญด้วย และมิสเซลีนยังเห็นด้วยว่าระบบประกันสังคมของไทยควรจะดำเนินการให้ครอบคลุมแรงงานในระบบให้ครบถ้วนก่อนที่จะขยายฐานไปสู่แรงงานนอกระบบ ขณะที่ "นวพร เรืองสกุล" กรรมการอิสระกบข. และประธานกรรมการธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) มีความเห็นต่อการบริหารจัดการเงินภายในระบบประกันสังคมให้มีการปรับปรุงระบบประกันสังคมตั้งแต่ในขณะที่ยังมีเม็ดเงินในกองทุนจำนวนมากนี้ ไม่ใช่ไปทำตอนที่กำลังจะจ่ายเงินออก และต้องทำให้เกิดการออมให้มากขึ้นที่เพียงพอต่อการจะจ่ายออกในอนาคตด้วย คุณนวพร ให้เหตุผลประกอบ เพราะขณะนี้เรากำลังดูแลเงินเข้าแต่ไม่นึกถึงตอนที่ต้องจ่าย ซึ่งเม็ดเงิน 7 แสนกว่าล้านบาทที่ประกันสังคมมีอยู่นั้นไม่เพียงพอต่อการจ่ายออกเมื่อยามสมาชิกเกษียณอายุอย่างแน่นอน และแน่นอนว่าสมาชิกคนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้วย พร้อมตอกย้ำปัญหาประกันสังคมอีกว่า “เฉพาะหน้านี้ดูเหมือนเงินในกองทุนนั้นพอใช้ แต่ถ้าดูจริงๆ แล้วสมาชิกใหม่ๆ ก็จะตั้งคำถามทันทีว่าแล้วพวกเขาจะเข้ามาอยู่ในประกันสังคมเพื่ออะไร ในเมื่อสามารถออมเงินเองได้สิทธิประโยชน์เองมากกว่าการเป็นสมาชิกประกันสังคมเสียอีก” ชี้ชัดระบบประกันสังคม “ใจดีเกินไป” ย้ำรัฐต้องเร่งแก้ไข “เปิดทางสปส.ผันเงินออกลงทุนได้” ทว่าในมุมมองของดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ในฐานะผู้บริหารนโยบายการเงินจากแบงก์ชาติ เห็นว่าต้นเหตุของปัญหาระบบประกันสังคมของไทยในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นจากตัวระบบที่ใจดีเกินไป โดยยกตัวอย่างเทียบมูลค่าผลตอบแทนประกอบง่ายๆ ว่า เงินทุก 1 บาทที่สมาชิกจ่ายสมทบเข้ากองทุนไปนั้น สมาชิกจะได้รับคืนจากกองทุนประกันสังคม หากเป็นสมาชิกชายจะได้คืนเป็น 2บาท เป็นหญิงจะได้คืน 3บาท ซึ่งทำให้กองทุนเสียหาย 90,000 บาทต่อคนสำหรับชาย ส่วนหญิงนั้นทำให้กองทุนเสียหายคนละ 200,000 บาท ซึ่งหากไม่แก้ไขสุดท้ายเราก็ต้องปฏิรูปประกันสังคมแบบสหรัฐอเมริกา “ปัญหา คือ รัฐพยายามทำตัวเป็นบริษัทประกันซึ่งบริษัทประกันแห่งนี้กำลังมีปัญหา ในตอนนี้ดูดี ดูมีเงินเก็บในกองทุนเยอะมาก แต่ความเป็นจริงคือเงินจะไม่เพียงพอที่จะจ่ายให้สมาชิกปัจจุบันที่กำลังจะเกษียณอายุในอนาคตอันใกล้นี้ เงินที่เตรียมไว้ทั้งหมดมาตลอดนั้นก็ไม่พอ ดังนั้นเรื่องระบบประกันสังคมนั้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องรีบดำเนินการเร่งด่วนในขณะนี้ ไม่เช่นนั้นอีก 30 ปีข้างหน้าจะลำบากอย่างแน่นอน” อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารฯ จากแบงก์ชาติ เสนอทางออกให้ลดปริมาณการจ่ายสิทธิประโยชน์ลง ต้องทำให้การจ่ายผลตอบแทนนั้นสอดคล้องเหมาะสมกับจำนวนเงินที่ไหลเข้ากองทุน ซึ่งดร.กอบศักดิ์บอกว่า แม้ฟังดูอาจจะยอมรับได้ยากแต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ และที่สำคัญการระดมเก็บเงินออมเงินเข้ากองทุนอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการจะต้องจ่ายคืนเลี้ยงดูสมาชิกให้ดำรงชีพตั้งแต่เกษียณอายุงานจนถึงตายได้ ควรยอมให้ สปส.สามารถนำเงินในกองทุนไปลงทุนต่างๆ เพื่อสร้างเม็ดเงินเข้ากองทุนอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น สมาชิกก็ต้องยอมทำใจเสี่ยงบ้างเพื่อความมั่นคงของตัวระบบประกันสังคมเอง ทีดีอาร์ไอแนะทางออกสุดท้ายประกันสังคม “กระเป๋าใครกระเป๋ามัน” สุดท้ายบทสรุปของงานในวันนั้นมาจบลงที่เวทีเสวนา “ทางเลือกในการปฏิรูปการประกันสังคม กรณีชราภาพสำหรับประเทศไทย” ซึ่งดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ ระบุถึงปัญหาหลักของประกันสังคมขณะนี้คือ จำนวนเงินไหลเข้าน้อยกว่าจำนวนเงินที่จะต้องไหลออกยามจ่ายคืนให้สมาชิกชราภาพในสังคมผู้สูงอายุที่ประเทศไทยกำลังจะเผชิญใน 10 ปีข้างหน้า ที่คนทำงาน 5 คนต้องจ่ายเงินสมทบเพื่อดูแลคนชรา 2 คน ซึ่งเวลานี้เงินเหลือน้อยลงแต่คนแก่อายุยืนขึ้น แม้ว่ากฎหมายระบุให้รัฐต้องช่วยจ่ายในกรณีที่เงินไม่พอ แต่ขณะนี้รัฐบาลยังค้างเงินที่ต้องจ่ายให้สปส.อยู่ ฉะนั้นอนาคตจะวางไว้รัฐได้เท่าใด ดังนั้นเงินในกล่องขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าที่มีอยู่ตอนนี้ก็ไม่พอ ทางออกต้องหาเงินมาใส่เพิ่มในกล่อง ส่วนทางออกปัญหานี้ ดร.วรวรรณ บอกต้องแก้กฎหมายการจ่ายเงินให้จ่ายได้ทั้งบำเหน็จและบำนาญ ควรออกระเบียบให้ลูกจ้างสามารถสมทบเงินได้เพิ่มขึ้นตามความต้องการและความสามารถของแต่ละคน ต้องแก้ไขระเบียบให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณปัจจุบันที่เป็นอยู่ ซึ่งเชื่อว่าการเปิดทางให้สปส.สามารถนำเงินในกองทุนไปลงทุนสร้างจำนวนกำไรเพิ่ม 10%นั้น ก็ไม่สามารถช่วยระบบได้ ส่วนตัวกองทุนบำนาญชราภาพของกองทุนประกันสังคมเองก็ต้องแยกออกมาเป็นองค์กรอิสระจากสปส.เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบ “ฉะนั้นต้องเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินตอบแทน ควรเป็นแบบกระเป๋าใครกระเป๋ามัน จะจ่ายรวมแบบเดิมไม่ได้ ใครออมมากควรได้รับสิทธิประโยชน์มาก และรัฐบาลเองก็ควรเปิดให้กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ควรมาปูพื้นฐานเรื่องนี้ให้ลูกจ้างประกันสังคมด้วย ให้ประชาชนทุกคนได้รับเท่าเทียมกัน การแก้ปัญหาประกันสังคมต้องทำให้น้ำที่ไหลเข้าน้อยไหลเข้าให้มากๆ ขึ้น พร้อมกับอุดรูรั่วของถังใบนี้ด้วย ให้สมดุทั้งขาเข้าและขาออก” ทั้งนี้ดร.วรวรรณ ได้ทิ้งท้ายโดยการเสนอภาพ 2 ทางเลือกในการแก้ปัญหาประกันสังคม ระหว่าง 1.เพิ่มอัตราเงินสมทบนายจ้างและลูกจ้างจาก 3% เป็น 7% เพื่อเพิ่มทั้งสองฝ่ายเป็น 14% ให้สมาชิกรีบมีลูกมากๆ เพื่อรับสิทธิประโยชน์ และให้สมาชิกรีบตายกันเร็วๆ ซึ่งทางเลือกนี้คงไม่มีใครชอบแน่ หรือ 2.กระเป๋าใครกระเป๋ามัน ออมมากก็มีบำนาญมาก ออมน้อยก็มีบำนาญน้อย หรือเวลาเกษียณอาจจะมีบำเหน็จก้อนหนึ่งแล้วก็มีบำนาญด้วย หรือว่าอายุเกษียณแล้วเงินที่สมาชิกออมทั้งหมดต้องคืนด้วย แล้วรัฐควรให้สิทธิลูกจ้างควรได้รับสิทธิบำนาญเพิ่มจากรัฐด้วยจากกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.)ด้วย ให้เป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับจากรัฐ เพราะการมองระบบบำนาญควรมองทุกคนทั้งประเทศ ไม่ใช่มองคนแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ขณะที่นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการประกันสังคมผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง กับนายประสิทธิ์ จงอัศญากุล ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค ในฐานะกรรมการประกันสังคมฝ่ายผู้แทนนายจ้าง ยอมรับว่าปัญหานี้บอร์ดสปส.เองก็รู้และกำลังหาทางออกอยู่ และขณะนี้เริ่มมองและศึกษาหาหนทางการขอนำเงินทุนสะสมไปลงทุนสร้างกำไรเพิ่มอยู่ ซึ่งอยากให้เปิดโอกาสแก้กฎหมายที่ผูกมัดมือสปส.ในเรื่องนี้ออกด้วย ส่วนประเด็นที่จะผลักดันสปส.เป็นองค์กรอิสระทางกรรมการก็พยายามทำอยู่เช่นเดียวกัน ซึ่งยอมรับว่าไม่ง่าย นายพนัส ยังห่วงด้วยว่าภายในปี 2557 นี้จะเริ่มเห็นการจ่ายเงินตอบแทนสมาชิกชราภาพ เชื่อว่าสมาชิกส่วนใหญ่จะเลือกการขอจ่ายเป็นบำเหน็จจากสปส.มากกว่าขอรับเป็นบำนาญอย่างแน่นอน และเชื่ออีกว่าสมาชิกส่วนใหญ่จะขอเกษียณตั้งแต่อายุ 54 ปีเพื่อรับเงินชดเชยมากขึ้น เพราะทำให้สมาชิกเห็นตัวเงินเป็นก้อนกอบกำทันทีที่ได้รับ ซึ่งนายพนัสเชื่อด้วยว่า “เมื่อถึงเวลานั้นการจ่ายคืนของประกันสังคมจะไปไม่รอดแน่ สปส.เจ๊งแน่แล้วในที่สุดระบบก็จะล่ม” 20 ปี พัฒนาการระบบประกันสังคมไทย สำนักงานประกันสังคม ก่อตั้งเมื่อ 3 ก.ย. 2533 โดยในปี 2534 มีเงินทุนสะสม 1,890ล้านบาท มีผู้ประกันตน 2,154,669คน มีสถานประกอบการตั้งแต่ 20 คนขึ้นไปเข้าร่วม 25,789 แห่ง มีโรงพยาบาลรัฐในระบบ 119 แห่ง โรงพยาบาลเอกชนอีก 18 แห่ง และให้สิทธิประโยชน์สมาชิก 4 กรณี - กรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย เหมาจ่าย 700 บาท - กรณีคลอดบุตร จ่าย 2,500 บาทต่อเดือน - กรณีทุพพลภาพ จ่าย 1,000 บาทต่อเดือนไม่เกิน 15 ปี - กรณีเสียชีวิต จ่ายค่าทำศพ 10,000 บาทหรือ 100 เท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ปัจจุบัน (ปี 2553) สำนักงานประกันสังคมมีการเจริญเติบโตของกองทุนประกันสังคม ที่มีเงินสะสม735,695 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสำรองจ่ายบำนาญชราภาพ 593,180 ล้านบาท เงินสะสมกรณีเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ คลอดบุตร 95,190 ล้านบาท และกรณีว่างงานอีก 47,325 ล้านบาท มีสมาชิกประกันตน 9,520,185 คน มี 392,404 สถานประกอบการที่เข้าร่วม มีโรงพยายาลรัฐในระบบประกันสังคม 151 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 92 แห่ง และให้สิทธิประโยชน์สมาชิก 7 กรณี - กรณีเสียชีวิต จ่ายค่าทำศพ 40,000 บาท - กรณีคลอดบุตรจ่าย 12,000 บาทต่อครั้ง - กรณีทุพพลภาพ จ่ายค่ารักษาพยาบาล 2,000 บาทต่อเดือน - กรณีสงเคราะห์บุตร จ่าย 350 บาทต่อบุตร 1 คน ต่อเดือน - กรณีชราภาพ แบ่งเป็นกรณีที่สมาชิกจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 180 เดือนจะได้รับบำเหน็จ หากจ่ายสมทบเกิน 180 เดือนสมาชิกจะได้รับบำนาญ - กรณีว่างงาน กรณีลาออกจ่าย 30% ของค่าจ้างเป็นเวลา 3 เดือน ส่วนกรณีสิ้นสุดสัญญาล้างหรือถูกเลิกจ้าง จ่าย 50% ของค่าจ้างเป็นเวลา 6 เดือน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ