ป.ป.ช.เปิดเวทีถกคุณสมบัติผู้แทนในดวงใจ กระตุ้นประชาชนเฟ้นนักการเมืองคุณภาพบริหารประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday November 1, 2010 10:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--ป.ป.ช. ป.ป.ช. เปิดแคมเปญค้นหาคุณสมบัติผู้แทนที่ดี ให้ประชาชนร่วมโหวต กระตุ้นคนไทยเลือกผู้แทนคุณภาพเข้าสภาฯ โดยจัดเวทีเสวนา เรื่องผู้แทนในดวงใจและเชิญตัวแทนภาควิชาการ เยาวชนเข้าร่วม เป็นวิทยากร อาทิ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายเกษม จิตติวุฒินนท์ ประธานค่ายเยาวชนสัมพันธ์ ป.ป.ช. รุ่นที่ 2 และนายกษิดิศ ครุฑางคะ นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 ร.ร.ราชวินิตบางแก้ว จ.สมุทรปราการ ผู้ชนะเลิศการประกวดพูด ประจำปี 2553 ของสำนักงาน ป.ป.ช. และศาสตราจารย์(พิเศษ) วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ร่วมให้มุมมองบนเวทีอย่างน่าคิด ณ ห้องประชุม สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนพิษณุโลก กรุงเทพฯ โดยในวันงาน ได้รับเกรียติ จาก ศาสตราจารย์(พิเศษ) วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กำกับดูแลเรื่องจริยธรรม ให้ความเห็นว่า นี่ถือเป็นอีกกิจกรรมสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามบทบาทของ ป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้กำกับดูแลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งการกำกับดูแลค่อนข้างลำบาก เชื่อว่าการค้นหาคุณสมบัติผู้แทนที่ดีจะเป็นเครื่องช่วยในการกำกับดูแลจริยธรรม ของนักการเมืองได้ “เมื่อมองในเชิงบวก คุณสมบัติที่ดีควรเป็นอย่างไรนั้น ประชาชนควรตื่นตัวและมีส่วนร่วมในกระบวนการให้มากยิ่งขึ้น เพราะว่าเราละเลยเราไม่ได้ติดตาม เราไม่ได้มีส่วนในการดูแล ส.ส. ของเรา อย่าคิดว่าเมื่อหย่อนบัตรแล้วขายขาดไม่รับคืน คือแล้วก็แล้วกันไปอีกสี่ปีว่ากันใหม่ไม่ได้ เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ในกระบวนการทำงานประชาชนมีสิทธิ และต้องมีส่วนร่วมเข้าไปดูแลติดตาม ตรวจสอบการทำงานของ ส.ส. ซึ่งเป็นตัวแทนของเรา ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ ดังนั้นกิจกรรมนี้เท่ากับว่าเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตามดูแลทำให้ ส.ส. ทำหน้าที่เป็น ส.ส. ที่ดีอย่างแท้จริง” กรรมการ ป.ป.ช.กล่าว ด้าน ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดมุมมองในฐานะนักวิชาการว่า “ปัจจุบัน ส.ส. มีความรู้สูงขึ้นแต่กลับมีความสามารถในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยน้อยลง เพราะเล่นการเมืองแบบแบ่งข้างจนเกิดปัญหา เช่น สภาล่ม การประท้วง ใช้คำหยาบคายแบบไม่เคยปรากฏมาก่อน หาก ส.ส.มีความสามารถในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยคงไม่เกิดเหตุการณ์นองเลือด ส.ส.ต้องเลิกแบ่งข้างกัน หันมายึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ต้องสำนึกว่าหน้าที่ของ ส.ส.คือ การปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทยทุกคน ไม่ใช่แค่ตัวแทนของพรรคการเมืองที่สังกัด ที่สำคัญต้องเคารพกติกาจะเกิดความปรองดองอย่างแท้จริง” นายเกษม จิตติวุฒินนท์ ประธานค่ายเยาวชนสัมพันธ์ ป.ป.ช. รุ่นที่ 2 เผยว่า “ในฐานะเป็นเยาวชนวันนี้และเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าสิ่งที่สำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นการใช้ผลประโยชน์บางอย่างเป็นสิ่งสำคัญที่ ทุกคนต้องตระหนักสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โลกกว้างมาก เยาวชนมีติดต่อสื่อสารค้นหาข้อมูล จากการค้นหาข้อมูลปัญหาคอร์รัปชันในปี 2553 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 84 จาก 180 ประเทศ แสดงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในสังคมเกี่ยวกับเรื่องการเมืองการปกครอง หรือเป็นเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารงานความมีจิตสำนึกหรือการนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมของผู้บริหารประเทศ ผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นสิ่งที่สำคัญที่พวกเราเยาวชนความจะให้ความสำคัญ และตระหนักถึงปัญหา ที่เกิดขึ้นว่าผลกระทบในวันนี้เป็นปัญหาใหญ่ตามมาในอนาคต” ส่วนนายกษิดิศ ครุฑางคุ นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 ร.ร.ราชวินิตบางแก้ว จ.สมุทรปราการ วิทยากรที่อายุน้อยที่สุดในเวทีเสวนาครั้งนี้ เป็นผู้ชนะเลิศการประกวดพูด ประจำปี 2553 ของสำนักงาน ป.ป.ช. นับเป็นเด็กรุ่นใหม่ไฟแรง ระบุว่า ส.ส. ก็จะไม่มีความสำคัญถ้าเขาไม่ใช่คนที่กำหนดนโยบาย ไม่ใช่คนที่กำหนดทิศทางความเจริญให้กับประเทศ ชื่อก็บอกแล้วคือ ผู้แทนราษฏร แต่วันนี้เขายังทำหน้าที่นั้นอยู่ นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยยังคงดำเนินอยู่ในประเทศไทย โดยมี ส.ส. ส.ว. เป็นผลผลิตของประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง ทำให้ ส.ส. ส.ว. มีความสำคัญกับประเทศ เป็นจุดบ่งชี้หลายส่วน เป็นความเจริญที่เขาจะเป็นตัวบอกได้ “เราเป็นประชาชนหน้าที่คือการทำอย่างไรจะต้องตีกรอบการดำเนินงาน การทำงาน รวมถึงความประพฤติของ ส.ส. เหล่านี้ให้อยู่ในกรอบในเกณฑ์โดยใช้ระบอบประชาธิปไตย ภาพที่จะให้เยาวชนสนใจการเมือง คือ นักการเมืองเล่นการเมืองให้น้อยทีสุดแล้วทำหน้าที่ของผู้แทนราษฏรจริงๆ เยาวชนมองนักการเมืองตลอดถ้านักการเมืองทำอะไรผิดพลาดสิ่งที่เราเกรงกลัวคือเยาวชนจะซึมซับเรื่องนั้นหรือเปล่า” นายกษิดิศ กล่าวทิ้งท้าย อย่างไรก็ตาม“กิจกรรมค้นหาคุณสมบัติผู้แทนที่ดี” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา และเยาวชนร่วมเลือกหรือเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้แทนที่ดี จำนวน 3 ลำดับโดยส่งไปรษณียบัตรไปที่ ตู้ ปณ.100 เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 หรือร่วมโหวตผ่าน http://www.nacc.go.th ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2553

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ