นักดาราศาสตร์แนะวิธีชม ฝนดาวตก “เจมินิดส์”

ข่าวทั่วไป Wednesday December 8, 2010 15:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--สวทช นักดาราศาสตร์แนะวิธีชม “ฝนดาวตกเจมินิดส์” ในคืนวันที่13 - 14 ธันวาคมนี้ อย่างถูกต้อง สนุก ครบสาระ พร้อมทั้งเชิญชวนโรงเรียน ประชาชน จัดกิจกรรมร่วมกันนับฝนดาวตกเจมินิดส์ เรียนรู้ปรากฏการณ์และกลุ่มดาวบนท้องฟ้า โดยสามารถดาวน์โหลดแผนที่ดาวไปทำเองง่ายๆ ได้ฟรีที่ www.lesacenter.com นาวาอากาศเอกฐากูร เกิดแก้ว หัวหน้าโครงการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) กล่าวว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์นับเป็นฝนดาวตกที่น่าจับตาที่สุดสำหรับประเทศไทย เพราะเป็นฝนดาวตกที่มีดาวตกจำนวนมาก และเกิดขึ้นในฤดูหนาว ซึ่งอากาศดีและท้องฟ้าใส โดยเริ่มสังเกตเห็นได้มากตั้งแต่เวลาหลังเที่ยงคืนของคืนวันที่ 13 จนถึงเช้ามืดของวันที่ 14 ธันวาคม 2553 ตามเวลาประเทศไทย เนื่องจากปีนี้พระจันทร์ตกเวลาประมาณ 24.00 น. จึงทำให้มีแสงจันทร์บดบังในช่วงหัวค่ำ ส่วนจำนวนอัตราฝนดาวตกสูงสุดนั้นเฉลี่ย 80 — 120 ดวง/ชั่วโมง “ฝนดาวตก” คือดาวตกหลายดวงที่ตกมาจากบริเวณเดียวกันในท้องฟ้า ในช่วงเวลาเดียวกันของปี โดยเกิดจากการที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ และทิ้งเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากไว้ตามแนวเส้นทางโคจร ซึ่งในแต่ละปี โลกจะโคจรผ่านธารอุกกาบาตดังกล่าวในช่วงเวลาหนึ่ง (เป็นช่วงวันเดียวกันในแต่ละปี) เมื่อเศษฝุ่นเหล่านี้ผ่านเข้ามาสู่ชั้นบรรยากาศชั้นบนของโลก ก็จะเสียดสีกับชั้นบรรยากาศทำให้เกิดความร้อน และเผาไหม้เศษวัตถุนั้นภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที ปรากฏให้เห็นเป็นเส้นสว่างสวยงามเป็นจำนวนมาก เราจึงเรียกว่า ฝนดาวตก ทั้งนี้ธารอุกกาบาตอันเป็นต้นกำเนิดของฝนดาวตกทั่วไป มักจะมาจากธารอุกกาบาตของดาวหาง เช่น ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ฝนดาวตกเพอร์ซีดส์ เป็นต้น แต่ฝนดาวตกเจมินิดส์จะต่างออกไป คือเกิดจากธารอุกกาบาตของดาวเคราะห์น้อย "3200 ฟีธอน" (3200 Phaethon) ซึ่งธารอุกกาบาตของดาวเคราะห์น้อยมักจะมีขนาดใหญ่กว่าธารอุกกาบาตของดาวหาง โลกต้องใช้เวลานานในการเคลื่อนที่ผ่านธารอุกกาบาต จึงทำให้คาบเวลาการเกิดฝนดาวตกยาวนานกว่า เราจึงสามารถมองเห็นฝนดาวตกได้สองถึงสามวันก่อนและหลังวันที่มีจำนวนดาวตกสูงสุด หรือก็คือตั้งแต่วันที่ 7 — 17 ธันวาคม แต่จะมีมากสุดในคืนวันที่ 13 - 14 ธันวาคม โดยศูนย์กลางการกระจายหรือทิศทางอันเป็นจุดกำเนิดของฝนดาวตก (Radiant) จะอยู่ระหว่างดาวคาสเตอร์ (Castor) และพอลลักซ์ (Pollux) ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวคนคู่ หรือกลุ่มดาวเจมิไน และนี่ก็คือที่มาของชื่อฝนดาวตกเจมินิดส์นั่นเอง” สำหรับขั้นตอนการดูฝนดาวตกเบื้องต้น น.อ.ฐากูร กล่าวว่า เนื่องจากฝนดาวตกเจมินิดส์ไม่สว่างเหมือนกับฝนดาวตกลีโอนิดส์ การสังเกตการณ์จึงจำเป็นต้องเลือกสถานที่ไร้แสงไฟรบกวน และห่างไกลจากเมืองใหญ่ โดยเริ่มต้นการดูดาวตกจะต้องงดการใช้ไฟฉาย เพื่อให้ดวงตามีการปรับสภาพ สร้างเซลล์ไวแสงสำหรับการมองภาพกลางคืน แต่หากจำเป็นต้องใช้ไฟฉาย แนะนำให้ไฟฉายขนาดเล็กหุ้มด้วยถุงพลาสติกสีแดงแทน จากนั้นให้เริ่มทำการหาทิศทั้งสี่ เมื่อหันหน้าไปทางทิศเหนือ ซ้ายมือจะเป็นทิศตะวันตก และขวามือเป็นทิศตะวันออก ต่อมาก็คอยติดตามการเคลื่อนที่ของกลุ่มดาวคนคู่ “กลุ่มดาวคนคู่ จะมีดาวสว่าง 2 ดวงอยู่ใกล้กันคือ คาสเตอร์ และพอลลักซ์ ในช่วงกลางเดือนธันวาคม กลุ่มดาวคนคู่จะขึ้นเวลาประมาณสองทุ่ม แต่เราจะยังไม่สามารถมองเห็นดาวตกได้ชัดเจน จนกว่าดวงจันทร์จะตกในเวลาประมาณเที่ยงคืน ดังนั้นในช่วงเวลาหัวค่ำจึงควรนอนเก็บแรงไว้ก่อน แล้วตื่นขึ้นมาดูฝนดาวตกตอนหลังเที่ยงคืนไปจนถึงรุ่งเช้า เวลาตีสองกลุ่มดาวคนคู่จะอยู่ใกล้จุดเหนือศีรษะ ช่วงเวลานี้คาดว่าจะมองเห็นดาวตกได้มากกว่า 100 ดวงต่อชั่วโมง โดยตกกระจายไปยังขอบฟ้าทุกทิศทาง การเฝ้าดู แนะนำให้จับกลุ่มกันและนอนเอาหัวชนกันกลุ่มละ 4 คน หันเท้าไปทางทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก เพื่อให้มองเห็นครอบคลุมทั่วบริเวณท้องฟ้า หากสังเกตจะพบว่า ดาวตกแต่ละดวง ตกลงมาจากทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้หากลองลากเส้นย้อนกลับทิศทางที่ดาวตกหล่นลงมา จะพบว่า ทุกเส้นจะตัดกันที่กลุ่มดาวคนคู่ เราเรียกจุดที่ดาวตกจากลงมาว่า “เรเดียนท์” อย่างไรก็ตาม เราจะไม่เห็นดาวตกในบริเวณกลุ่มดาวคนคู่มากนัก เพราะการมองเห็นเป็นดาวตกก็ต่อเมื่อ เศษวัตถุมีการเสียดสีกับบรรยากาศโลกจนลุกไหม้ เกิดแสงสว่าง ดังนั้นทางที่ดีจึงควรมองไปทั่วๆ ท้องฟ้า เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่า ฝนดาวตกจะปรากฏให้เห็นนาทีที่เท่าไหร่ บริเวณใด “ น.อ.ฐากูร กล่าวว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์ เป็นฝนดาวตกที่น่าสนใจ และเป็นกลุ่มฝนดาวตกที่มีโอกาสเห็นได้ค่อนข้างมาก เพราะตลอดระยะเวลาการเก็บข้อมูลทำวิจัยฝนดาวตกเจมินิดส์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 จนถึงปัจจุบัน พบว่า สามารถนับฝนดาวตกเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 100 ดวงต่อชั่วโมง และยังพบไฟร์บอลมากกว่า 10 ดวงต่อคืน อย่างไรก็ดีฝนดาวตกเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สวยงามและหาดูได้ยาก หากโรงเรียนหรือผู้ปกครองสามารถจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ร่วมกันนับฝนดาวตกเพื่อบันทึกไว้เป็นสถิติของแต่ละปี ก็จะทำให้การชมฝนดาวตกเจมินิดส์สนุกและมีความหมายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งในโอกาสเช่นนี้ยังสอนให้เด็กๆ รู้จักใช้แผนที่ดาว และทำความรู้จักกับกลุ่มดาวสว่างอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาววัว กลุ่มดาวหมีใหญ่ เป็นต้น ประกอบกับหากมีเรื่องเล่าและการใช้ประโยชน์ของกลุ่มดาวต่างๆ ร่วมด้วยแล้ว ก็จะช่วยให้เด็กมีจินตนาการ เกิดความประทับใจ ทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาออกไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม และสนใจดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลด แผนที่ดาว ไปทำเองง่ายๆ ได้ฟรีที่ www.lesacenter.com ซึ่งจะอยู่ในหัวข้อสื่อการเรียนรู้ หมายเหตุ : ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ความรู้ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ โดย นาวาอากาศเอกฐากูร เกิดแก้ว มิได้เป็นนักวิชาการของ สวทช. แต่อย่างใด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ