“จิตใส ใจอาสา ฝ่าโลกมืด” เสียงประสานแห่งความสุข จากนักเรียนผู้พิการทางสายตาโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย

ข่าวทั่วไป Monday December 20, 2010 12:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล We wish you a Merry Christmas; We wish you a Merry Christmas; We wish you a Merry Christmas and a Happy New Year. เสียงเพลง Merry Christmas ที่ดังก้องกังวานไปทั่วอุทยานเบญจสิริ และต่อด้วยเพลง “พรปีใหม่” ในท่วงทำนองใสๆ ฟังสบายในบรรยากาศร่มเงาแมกไม้ชวนร่มรื่น เสมือนหนึ่งเป็นอาณัติสัญญาณของเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ทุกคนต่างเฝ้ารอคอยให้รีบมาถึง แต่จะมีสักกี่คนรู้ว่าบทเพลงที่ได้ยินในวันนี้เป็นการร้องเพลงประสานเสียงจากนักเรียนผู้พิการทางสายตาโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย ที่มาแสดงความสามารถในงาน ตลาดนัดแห่งความสุขของการอาสาและการให้ (VOLUNTEER STREET FAIR 2010) จัดโดย เครือข่ายจิตอาสา กว่า 40 องค์กร และ Chang Fusion, My Social Motion, สถานีโทรทัศน์ทีวีไทยม หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะมองไม่เห็นตัวโน๊ต ไม่เห็นการกำกับวงของวาทยกร แต่เสียงเพลงของน้องๆ ที่ขับร้องออกมาในวันนั้นก็เพียงพอที่จะส่งต่อ “ความสุข” ทำให้ผู้ฟังนับร้อยพลอยมีความสุข ทั้งจากท่าทางอันเป็นธรรมชาติของน้องๆ และความไพเราะของดนตรีเสียงประสาน กว่าน้องๆ จะมาถึงวันนี้ได้ ... ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ใจดีที่เข้าใจและเห็นศักยภาพ ทำให้เวลานี้ เยาวชนกลุ่มนี้ นอกจากจะไม่ถูกมองว่าเป็น “เด็กมีปัญหา” แล้ว ในทางกลับกัน สังคมยังได้เห็นถึง “ศักยภาพ” อาจารย์ณสิริ คุ้มพร ผู้สอนการศึกษาพิเศษโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย เล่าให้ฟังว่า ที่โรงเรียนมีเด็กพิเศษอยู่ทั้งหมด 24 คน เป็นเด็กนักเรียนเรียนร่วม เมื่อว่างจากการเรียน ทุกคนก็จะเข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันในห้องกิจกรรมพิเศษที่ทางโรงเรียนจัดไว้ให้ กิจกรรมหนึ่งที่เด็กๆ ทำได้ดี คือ “การร้องเพลง” เพราะเด็กๆ กลุ่มนี้มีพื้นเสียงที่ไพเราะและชื่นชอบการร้องเพลงอยู่แล้ว ครูจึงเพียงช่วยฝึกฝนและให้คำแนะนำ รวมถึงดูแลเรื่องบุคลิกภาพบนเวที ส่วนการฝึกซ้อมนั้น เด็กๆ เองมีวินัย ขยันฝึกซ้อมกันทุกๆ เช้าวันพุธก่อนเข้าเรียน หากแต่เช้าวันพุธไหนไม่ว่างก็จะเลื่อนไปฝึกซ้อมในช่วงเย็นทดแทน ย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นการร้องเพลงประสานเสียงของเด็กกลุ่มนี้ ครูจิตอาสาเล่าให้ฟังว่า เริ่มจาก “อาจารย์จรรยา ธนะนิมิตร” หัวหน้างานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ได้พานักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการจิตอาสาในโรงพยาบาล มูลนิธิกระจกเงา ที่มีมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้การสนับสนุน จากนั้นจึงได้ก่อตั้งชมรม “จิตใส ใจอาสา” ขึ้นเพื่อเป็นจุดรวมพลนักเรียนที่สนใจให้มาทำกิจกรรมจิตอาสาในโรงพยาบาลร่วมกัน และเมื่อเห็นว่าเด็กพิเศษกลุ่มนี้มีพรสวรรค์ในการร้องเพลงอยู่ในขั้นดีมาก จึงชักชวนให้เข้ามาร่วมกิจกรรมจิตอาสาในชื่อ “ชมรมจิตใส ใจอาสา ฝ่าโลกมืด” พาน้องๆ ไปร้องเพลงที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาลเด็กให้ผู้ป่วยเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครองได้รับฟังระหว่างรอรับการรักษา เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดให้กับผู้ป่วยเด็กเล็กและผู้ปกครองได้เป็นอย่างดี… และระหว่างที่น้องๆ ทำกิจกรรมนั้นเองยังเป็นเวลาเดียวกับที่น้องๆ จะได้รู้จักกับการฝึกฝนตนเอง เพื่อส่งต่อ “ความสุข” แก่ผู้อื่น และเปิดรับ “ความสุข” จากคนรอบข้าง “น้องหญิง” เด็กหญิงสุชญา มานิตยกุล นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนสันติราษฏร์วิทยาลัย เล่าว่า ได้เข้าร่วมชมรมเมื่อเรียนอยู่ชั้น ม.2 เพราะเห็นพี่ๆ และเพื่อนๆ ร้องเพลงกันไพเราะมาก และเห็นทุกคนสนุกสนานกันดี จึงเป็นโอกาสเหมาะที่จะได้พบเจอเพื่อนใหม่และทำกิจกรรมร้องเพลงที่ตัวเองชื่นชอบ พลอยทำให้น้องหญิงต้องกระตุ้นเตือนตัวเองให้ฝึกฝนการร้องเพลงทุกวัน ส่วนใหญ่แล้วจะฝึกเองที่บ้าน ทั้งฝึกการหายใจ การเล่นลูกคอ เช่น ศึกษาจากรายการเพลงว่านักร้องมืออาชีพเขามีวิธีการร้องเพลงกันอย่างไร “ครั้งแรกที่ไปร้องเพลงให้ผู้ป่วยฟังนั้นรู้สึกดีใจมาก และรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้ยินเสียงปรบมือจากผู้ชม ดีใจมากที่คนฟังชอบและอยากฟังเพลงที่เราร้อง” น้องหญิงเล่าและบอกด้วยว่า สำหรับผลการเรียนนั้น น้องหญิงยังไม่เป็นรองใคร เพราะเกรด 3.88 เป็นตัวการันตีถึงความรับผิดชอบของเธอในการจัดสรรเวลาเรียนกับการร้องเพลง โดยหลังจากอ่านหนังสือเสร็จแล้วก็จะมาฝึกร้องเพลงเป็นงานอดิเรก ส่วนความฝันเมื่อเรียนจบแล้วน้องหญิงอยากเป็น “ครู” สอนเด็กๆ และอยากฝากถึงเพื่อนๆ ที่อยู่ในกลุ่มเด็กพิเศษด้วยว่า ขอให้เพื่อนทุกคนมีความหวังในชีวิต และเชื่อมั่นว่าวันหนึ่งเราจะเป็นในสิ่งที่เราหวังไว้ได้ ขอเพียงแค่ให้เราพยายามทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด ไม่ต่างกันนักกับ “น้องนัท และน้องตริน” นายฉัตรินและนายฉันทวัฒน์ สินธุสาร สองพี่น้องฝาแฝด สมาชิกชมรมจากชั้น ม.4 เล่าบ้างว่า ได้เข้าชมรมจิตใสใจอาสา ฝ่าโลกมืด ตั้งแต่อยู่ชั้น ม.1 เพราะอยากช่วยรุ่นพี่ร้องเพลง เวลาที่ได้ยินเสียงปรบมือจากผู้ชมจะรู้สึกตื่นเต้นมาก ยิ่งเสียงปรบมือดังมากเท่าไรก็ยิ่งตื่นเต้นมากเท่านั้น เพราะรู้สึกว่าคนมาดูพวกเราเยอะมาก 4 ปีที่ได้เข้ามาอยู่ในชมรมนี้มีความสุขมาก แม้ว่าจะเหนื่อยมากเหมือนกัน เพราะต้องแบ่งเวลาเรียน อ่านหนังสือ ทำการบ้าน และซ้อมร้องเพลง ทำให้รู้สึกว่า “เราต้องขยันกว่าคนอื่นมากเป็น 2 เท่า” “อยากฝากไปถึงเพื่อนๆ ที่พิการทางสายตาว่าอย่าท้อถอย พวกเราสองคนขอเป็นกำลังใจให้ แม้พวกเราจะมองไม่เห็นแต่ก็สามารถทำอะไรได้เหมือนคนปรกติทั่วไป เช่นพวกผมสองคนก็สามารถนั่งรถเมล์มาเรียนได้เหมือนกัน แต่ก่อนที่บ้านมีรถรับส่ง แต่เมื่อขึ้นชั้น ม.4 ผมสองคนขอคุณพ่อคุณแม่ว่าขอมาโรงเรียนเอง เพราะอยากทำอะไรด้วยตนเองบ้าง” สองพี่น้องเล่า สุดท้ายที่เยาวชนคนเก่งผู้ทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ของกลุ่ม “น้องกล้า” นายปณิธาน ใจกล้า พี่ใหญ่ชั้น ม.6 ให้ เหตุผลที่ตัวเองเข้ามารับบทบาทตรงนี้ว่าเพราะอยากช่วยดูแลน้องๆ เวลาไปทำกิจกรรม ที่ผ่านมากล้าเองยังเคยมีประสบการณ์ดูแลเพื่อนที่พิการทางสายตามาก่อน เมื่อเห็นว่าน้องๆ กลุ่มนี้ต้องออกไปทำกิจกรรมนอกโรงเรียนบ่อยขึ้น จึงต้องการนำทักษะที่มีอยู่อาสาดูแลน้องตั้งแต่เรื่องการเดินทาง การรับประทานอาหาร การพาน้องไปเข้าห้องน้ำ ฯลฯ แต่ที่ทำมากที่สุดคือเรื่อง “ยกของ” ทั้งการขนย้ายเครื่องดนตรีและสัมภาระอื่นๆ เพราะเป็นเรื่องที่จะส่งผลถึงความปลอดภัยของน้องๆ “มีคนถามว่าอายไหมที่ต้องไปช่วยดูแลน้องๆ กลุ่มนี้ กล้าบอกว่า ไม่เห็นต้องอายเลย เพราะเราช่วยเหลือคน เราไม่ได้ไปทำร้ายใคร เราช่วยเหลือเขาได้ เราก็อยากช่วย สิ่งที่ทำให้กล้าทำงานอาสาสมัครคือ การอยากช่วยเหลือเพื่อนคนอื่น จิตอาสาหากทำบ่อยๆ ก็จะคุ้นชิน และมีความรู้สึกอื่นเข้ามาแทนที่มากกว่า เช่น ความภาคภูมิใจ งานจิตอาสาสมัครแม้จะเหนื่อย จะล้า แต่เราคิดเสมอว่าเราเหนื่อยไม่ได้ ล้าไม่ได้ เราต้องช่วยเหลือคนที่โอกาสน้อยกว่า” เด็กหนุ่มกล่าว ก่อนบอกด้วยว่า “เมื่อทำสิ่งดีๆ เหล่านี้แล้ว ไม่ต้องคาดหวังถึงผลตอบแทน เพราะทันทีที่ทำ ความรู้สึกดีๆ ก็จะติดตามมาเอง” ทั้งนี้กล้ายังสำทับด้วยว่า การทำกิจกรรมนี้ เรายังต้องมีความรับผิดชอบในหน้าที่เรียนหนังสือของตัวเอง ไม่ทำให้การเรียนตก เพราะทุกครั้งหลังจากทำกิจกรรมแล้วก็จะกลับไปทบทวนหนังสือที่บ้าน “ขึ้นอยู่กับการจัดสรรเวลามากกว่า” เมื่อเรามีโอกาสได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ก็ควรจะทำตรงนี้ให้เต็มที่ คนในสังคมยังต้องการความช่วยเหลืออีกมาก อยากให้ทุกคนเข้ามาทำงานจิตอาสาดูบ้าง งานจิตอาสาไม่ใช่เฉพาะคนที่เก่งด้านกิจกรรมเท่านั้นจึงจะทำได้ ตัวของกล้าเองก็เป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่ง เมื่อมีคนมาชักชวนเลยลองทำ และเข้าไปสัมผัสถึงได้รู้ว่างานจิตอาสาไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากเกินความสามารถของเราเลย “สังคมไทยมีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดี แม้ว่าความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้พวกเราห่างเหินกันไปบ้าง แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคกีดขวางการทำสิ่งดีๆ เหล่านี้ กล้าจึงอยากให้ทุกคนหันกลับมาคิดว่าในสังคมไทยยังมีคนที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่มากมาย ทั้งผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ หรือแม้คนปกติอย่างเราก็ยังต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น จึงอยากให้ทุกคนในสังคมช่วยกันคิดว่าเราจะสามารถให้ความช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ได้อย่างไร … “อย่าผลักภาระให้กับรัฐบาลหรือองค์กรต่างๆ เพียงอย่างเดียว การแก้ปัญหาทุกเรื่องต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกๆ คน ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคม เพราะทุกคนคือคนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน ถ้าคนในสังคมเดียวไม่ช่วยกัน ก็คงจะไม่มีใครช่วยเราได้” “ด้วยหนึ่งสมองและสองมือ” ที่ทุกๆ คนมีเท่ากัน น้องๆ ผู้พิการทางสายตาจากโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย ที่มีผู้ใหญ่ใจดีสนับสนุนให้โอกาสพวกเขาแสดงศักยภาพ จึงพิสูจน์แล้ว ถึง การเป็น “ผู้ให้” ที่ยิ่งให้ยิ่งเป็น “ผู้รับ” สมดังพระบรมราโชวาทขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “การเสียไปคือการได้มา” หรือ “Our lost is our gain” จริงๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ