รวมพลัง “ละอ่อนน้อย” สร้างดอยเกษตรสุขภาวะสร้างวิถี “คน-ดิน-น้ำ-ป่า” พึ่งพาผูกพันอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Wednesday March 2, 2011 15:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี การปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรกรรมจากเกษตรเพื่อกินอยู่ ไปสู่การเกษตรเชิงเดี่ยว ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรในทุกพื้นที่ของประเทศ ประกอบกับกระแสบริโภคนิยมที่ไหลบ่าเข้ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้คุณค่าและภูมิปัญญาพื้นบ้านซึ่งผูกพันกับธรรมชาติถูกลบเลือนไป เนื่องเพราะในจิตใจมุ่งแสวงหาแต่ความสุขที่ต้องแลกมาด้วย “เงิน” เพียงอย่างเดียว “บ้านขุนแปะ” เป็นหมู่บ้านชนเผ่า “ปกาเกอะญอ” ถึงแม้จะตั้งอยู่บนดอยสูงที่ห่างไกล และใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายผูกพันกับธรรมชาติมาตลอด ก็ไม่อาจต้านทานกับการไหล่บ่าเข้ามาของกระแสทุนนิยมสมัยใหม่ได้ หลายครอบครัวหันไปทำการเกษตรเชิงเดี่ยว เพียงหวังว่าจะได้ “เงิน” จำนวนมากๆ เพื่อมาใช้ซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตามสมัยนิยม สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ “ทุกข์ภาวะ” เพราะถึงจะมีรายได้มากขึ้นแต่ก็ไม่เคยพอจ่ายหนี้ สุขภาพจิตและสุขภาพกายก็ย่ำแย่ ซ้ำร้ายธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็เสื่อมโทรมลง ทาง เครือข่ายกองบุญข้าว และผู้นำชุมชนจึงได้รวมตัวกันจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้เกษตรยั่งยืนบ้านขุนแปะ” ขึ้นในปี 2549 เพื่อถ่ายทอดความรู้ในการทำเกษตรกรรมธรรมชาติพึ่งพาตนเอง ลด ละ เลิก การใช้ปุ๋ย ยา และสารเคมี นำภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษกลับมาใช้ในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพบนหลักเศรษฐกิจพอเพียงโดยปัจจุบันมีแกนนำทั้งสิ้น 24 ครัวเรือน และเพื่อเป็นการสืบสานและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่คนรุ่นใหม่โครงการ “ขุนแปะยิ้มได้ด้วยพลังละอ่อนน้อยสร้างดอยเกษตรเพื่อสุขภาวะ” จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างแกนนำเยาวชนให้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และร่วมกันรักษาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชนเผ่าที่นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายลิเก วงศ์จองพร หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า กิจกรรมหลักๆ ที่ชักชวนเด็กและเยาวชนจำนวนกว่า 60 อายุตั้งแต่ 10-24 ปีในชุมชนมาร่วมกันขับเคลื่อนแนวคิดก็คือ การถ่ายทอดความรู้ในเรื่องของของทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพและฮอร์โมน สารสมุนไพรไล่แมลง การผลิตและใช้น้ำส้มควันไม้ เรียนรู้เรื่องพืชอาหารและยาสมุนไพรในพื้นที่ โดยเน้นในเรื่องความรู้และทักษะในเรื่องของการทำการเกษตรแบบยั่งยืน “แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการปลูกฝังเรื่องของคุณค่าเชิงจิตวิญญาณ โดยชาวปกาเกอะญอจะมีสุภาษิตบทหนึ่งบอกว่า ความแกร่งของม้าอยู่ที่เล็บเท้า ความแกร่งของคนก็คือลูกหลาน เพราะฉะนั้นลูกลานก็จะต้องเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะต้องสืบทอดภูมิปัญญาของชุมชน อย่างการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นเช่นเตาเผาน้ำส้มควันไม้ ถ้าเรามองลึกลงไปในเรื่องของคุณค่าในเชิงจิตวิญญาณการที่ น้ำส้มควันไม้มาจากไหน ก็มาจากต้นไม้ ซึ่งตามความเชื่อของปกาเกอะญอมองว่าต้นไม้ก็มีชีวิตเหมือนกับคน ต้นไม้ต้องสละชีวิตเอาเหงื่อมาเป็นน้ำส้มควันไม้ ตัวกลายเป็นถ่าน เพื่อรับใช้คน ทำให้พืชพรรณดีขึ้น ดินก็ดีขึ้น ซึ่งจิตสำนึกตรงนี้ถ้าเด็กรุ่นใหม่ได้ทำและตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดความยั่งยืนระหว่างคนและธรรมชาติในการอยู่ร่วมกัน” นายลิเกกล่าว นายรักชาติ มูทู อายุ 42 ปี แกนนำเกษตรยั่งยืนบ้านขุนแปะเล่าให้ฟังว่า ราว 10 ปีที่ผ่านมา ชุมชนแห่งนี้เริ่มปรับเปลี่ยนไปทำการเกษตรสมัยใหม่มีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีจำนวนมากทำให้ดินและธรรมชาติก็เสื่อมโทรม ถึงจะมีรายได้ดีกว่าแต่ก็มีผลเสียต่อสุขภาพ หลายคนในชุมชนเจ็บป่วยบ่อยต้องไปหาหมอในเมือง รายได้ที่ได้มากกว่าจึงหมดไปกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล “คนโบราณเขาแนะนำทุกอย่างไว้ดีแล้ว แต่ว่าเรากลับหันไปใช้เคมีทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ มากมาย แต่ปัจจุบันจะทำเพื่อขายหรือกินก็ดีจะต้องใช้ปุ๋ยหมัก ใช้น้ำส้มควันไม้ ทดแทนการใช้ปุ๋ยและสารเคมีทั้งหมดและเมื่อพวกเราได้ทำกันแล้ว ก็มาคิดว่าถ้าเราแก่ตัวลงไปใครจะมาสานต่อ จึงอยากให้เด็กๆ ได้มาสืบทอดให้เกิดความยั่งยืนในชุมชนต่อไป ให้แนวคิดเรื่องของการทำการเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง พึ่งพาธรรมชาติ ได้อยู่ในชุมชนของเราต่อไป และให้พวกเขาได้ขับเคลื่อนต่อ” แกนนำชุมชนกล่าว นางสาวสุภาพร วอบือ หรือ “น้องแอม” อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนบ้านขุนแปะ เล่าถึงความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมการทำการเกษตรแบบยั่งยืนว่า ทำให้รู้ว่าการที่จะไล่แมลงหรือการใส่ปุ๋ยบำรุงพืชผักนั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งสารเคมีอย่างเดียว โดยสามารถใช้สิ่งรอบตัวที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ได้ “ถ้าจะทำสารไล่แมลงก็ใช้ ตะไคร้หอม ชะอม ขิง พริก มาทุบให้แหลกแล้วก็นำมาหมักทิ้งไว้ในถังก็จะได้น้ำยาไล่แมลงแล้ว นอกจากนี้ยังได้ความรู้ในเรื่องของอาหารและยาอีกด้วย เพราะทั้งๆ ที่เราเกิดและโตขึ้นมาในชุมชนแห่งนี้ เวลาป่วยก็คิดแต่ว่าจะไปหาหมอ ไปซื้อยามากิน มียาแต่ที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ รอบๆ บ้านของเราก็มียาหลายอย่าง ขมิ้น เป็นได้ทั้งอาหารและยา ถ้าเป็นแผลก็ทุบขมิ้นประคบที่แผลทำให้แห้งและหายเร็ว รอบตัวของเรามียาเยอะมากจนอธิบายไม่หมด” น้องแอมระบุ นายพรชัย กุสุมไพรวัลย์ หรือ “ชีวา” อายุ 23 ปี ปัจจุบันช่วยครอบครัวทำการเกษตร ทำนา ปลูกกะหล่ำปี ผักกาดขาว หอมแดง เล่าว่าได้นำความรู้ในเรื่องของสารไล่แมลงไปทำไว้ใช้พ่นผัก และทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เองเพื่อลดต้นทุนโดยผสมกับกับการใช้ปุ๋ยเคมี “ยาฆ่าแมลงก็ใช้ แต่ปัจจุบันใช้น้อยลงแล้วเพราะนำสารไล่แมลงตัวนี้ไปเสริม ผลดีช่วยเราประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อยาและสารเคมีคุณภาพดินดีก็ขึ้น ตอนนี้ก็เริ่มพยายามปรับใช้สารเคมีต่างๆ ให้น้อยลง และทำให้รู้ว่าในชุมชนของเรายังมีสิ่งดีๆ อีกมากมาย บางกสิ่งเราไม่เคยเห็นคุณค่ามาก่อน แต่เราก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทำให้มีมีคุณค่าขึ้นมาได้” นายชีวากล่าว ด้าน นางสาวชลธิชา แดงสวาท หรือ “น้องดา” อายุ 21 ปี บอกว่า พอมาเข้าร่วมโครงการทำให้รู้ว่าการใช้สารเคมีส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จึงได้นำความรู้ที่ได้ไปใช้กับแปลงปลูกผักของตนเอง “ถ้าให้เลือกระหว่างใช้สารเคมี จะเลือกใช้สารธรรมชาติ เพราะไล่แมลงได้จริง ทดลองมาแล้ว แต่ต้องขยันพ่นสารไล่แมลงสักหน่อย พ่นบ่อยสองสามวันต่อครั้งถ้าจะให้ได้ผลดี” น้องดาระบุ “ในอนาคตเราอยากจะเห็นชุมชนขุนแปะลดละเลิกการใช้สารเคมีต่างๆ หันกลับมาทำเศรษฐกิจแบบพอเพียง พึ่งพาตนเอง พึ่งพาธรรมชาติ ผลดีก็คือป่า น้ำ ดิน ก็จะอุดมสมบูรณ์ สุขภาพของคนในชุมชนก็จะดีขึ้น ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลงไปทั้งในเรื่องของการซื้ออาหารเล็กน้อยๆ ตามร้านค้าทั้งๆ ที่เราสามารถปลูกได้ในครัวเรือน และสิ่งสำคัญก็คือปลูกฝังให้เด็กเห็นคุณค่าของธรรมชาติ อยากให้เด็กนำสิ่งเหล่านี้ไปขยายผลต่อกับครอบครัวของตัวเอง ลด ละ ละเลิก ใช้สารเคมีหันมาพึ่งพาวิถีแบบดั้งเดิมที่พึ่งพาธรรมชาติที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม” หัวหน้าโครงการกล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ