“แม่ทา” ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ “วิถีพอเพียง” สสส. ชูเครือข่ายขยาย 40 ตำบลน่าอยู่

ข่าวทั่วไป Wednesday March 2, 2011 16:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี “แม่ทา” เป็นตำบลเล็กๆ ในอ้อมกอดของขุนเขา ของอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีแนวทางในการพัฒนาชุมชนของตนเองบนหลักคิด “ความพอเพียง” และ “พึ่งพาตนเองได้” มาตั้งแต่ปี 2529 จนปัจจุบันได้รับการคัดเลือกให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ” ในการพัฒนาทรัพยากรและเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน โดยจุดเด่นของชุมชนแห่งนี้อยู่ที่การให้ความสำคัญกับ “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ร่วมคิด ร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนา และร่วมทำบนฐานของวิถีชุมชน โดยมีการเชื่อมโยงระหว่างสมาชิกชุมชน ผู้นำ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดเป็น “เครือข่าย อบต. เพื่อประชาชน” ก่อนที่จะยกระดับขึ้นเป็น “สถาบันพัฒนาทรัพยากรและเกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทา” ที่ทุกฝ่ายต่างร่วมทำงานโดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวตำบลแม่ทาใน 4 มิติ ทั้งในด้านกาย ใจ สังคม และปัญญา และเพื่อเป็นหนุนเสริมให้เรื่องดีๆ จากชุมชนหนึ่งให้ขยายออกไปยังท้องถิ่นอื่นๆ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา และ สถาบันพัฒนาทรัพยากรและเกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทา จัดทำ “โครงการเสริมสร้างเครือข่ายตำบลจัดการตนเอง สู่ชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ พื้นที่ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่” เพื่อขับเคลื่อนและขยายผลให้ตำบลแม่ทายกระดับไปสู่การเป็น “ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ” ในด้านพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและการเกษตรอย่างสมดุล โดยสามารถพึ่งพาตนเองบนวิถีแห่งความพอเพียงได้อย่างยั่งยืน นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า สสส.ได้เข้ามาร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อขยายงานให้เป็นรูปแบบและชัดเจนมากยิ่งขึ้น เกิดระบบการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและองค์ความรู้กับหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะทำให้คนในชุมชนสามารถพัฒนาตำบลแม่ทาให้ก้าวสู่การเป็นตำบลต้นแบบในระดับประเทศอีกด้วย “ที่แม่ทาเราทำเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนและการจัดการทรัพยากรมาตั้งแต่ปี 2529 ต่อมาก็เริ่มมีคนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งการมาเรียนรู้เมื่อก่อนเป็นแบบชาวบ้าน แต่พอมีโครงการนี้เข้ามาก็เกิดแนวคิดการพัฒนา และขยายผลให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยมีการแบ่งทีมงานออกเป็น ทีมเกษตร ทีมทรัพยากร ทีมวิถีพอเพียง ทีมเศรษฐกิจ มีการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันเดือนละครั้ง เพราะตำบลของเราไม่ได้มีองค์ความรู้แค่เรื่องเกษตร แต่เราเป็นตำบลเข้มแข็ง เป็นต้นแบบเรื่องเกษตรยั่งยืน โดยมี 4 แผนงานที่ต้องทำ คือพัฒนาตนเอง พัฒนาบุคลากร เป็นศูนย์เรียนรู้ และมีหลักสูตรที่ชัดเจน” นายก อบต.แม่ทา กล่าว โดยในพื้นที่ของตำบลแม่ทาได้มีศูนย์การเรียนรู้และกิจกรรมหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น วิทยุชุมชนคนรักษ์แม่ทา, เครือข่ายการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำทา, พลังงานทางเลือกก๊าชชีวภาพ, สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา, สภาเด็กและเยาวชนตำบลแม่ทา, เครือข่ายการจัดการทรัพยากรตำบลแม่ทา, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก, ศูนย์พัฒนาครอบครัว, ธนาคารชุมชนบ้านห้วยทราย, กลุ่มโรงน้ำดื่มแม่ทาทิพย์ ฯลฯ ซึ่ง “ร้านค้าชุมชน” ก็เป็นหนึ่งในแหล่งเรียนรู้ของศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อลดรายจ่ายให้กับคนในชุมชนได้เลือกซื้อสินค้าในราคาถูก โดยใช้ “กลไกการตรึงราคาสินค้า” เพราะในอดีตราคาสินค้าที่จำหน่ายมักถูกกำหนดจากผู้ขาย มีการค้ากำไรเกินควร ชาวบ้านไม่มีทางเลือก แต่เมื่อมีร้านค้าชุมชนเกิดขึ้นก็ส่งผลให้ร้านค้าอื่นๆ ในตำบลต้องลดราคาสินค้าลงมาอยู่ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม นายแดง ผัดอูบ หัวหน้าศูนย์สาธิตการตลาด บ้านหัวทุ่ง ตำบลแม่ทา เล่าว่าเมื่อก่อนร้านค้ามีร้านเดียว สินค้าจะมีราคาแพง จึงเกิดการตั้งร้านค้าชุมชนในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน มีสมาชิกรวมหุ้นกัน 16 คน “ปัจจุบันตอนนี้ในหมู่บ้านมีร้านค้าชุมชนอยู่ 3 ร้าน เราจะใช้วิธีการพยุงราคาสินค้าในหมู่บ้าน พอร้านค้าเยอะขึ้น ราคาสินค้าก็ลดลง เพราะเราไม่เน้นกำไร และมีการปันผลคืนให้กับสมาชิกปีละครั้ง เราดำเนินกิจการโดยยึดหลักเข้มแข็ง อดทน และจริงใจ ไม่ได้มองเรื่องผลกำไรเป็นหลัก แต่เน้นช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนมากกว่า” นายแดงกล่าว การทำงานอย่างเป็นเครือข่ายทั้งตำบลโดยมีเป้าหมายเดียวกัน ยังส่งผลให้คุณภาพชีวิตของชาวตำบลแม่ทาดีขึ้นในทุกๆ ด้าน โดยทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ทาก็มีการทำงานเชิงรุก บูรณาการองค์ความรู้ด้านการทำการเกษตรแบบปลอดภัย ลด ละ เลิกใช้สารเคมี มาใช้กับการตรวจคัดกรองสุขภาพของคนในชุมชน ส่งผลให้สุขภาพของชาวแม่ทามีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี นางสาวอรุณี ดวงแก้วเรือน เจ้าหน้าที่ศูนย์สุขภาพชุมชนปฐมภูมิบ้านห้วยทราย ตำบลแม่ทา กล่าวว่า “การทำงานเราเน้นเชิงรุก ลงพื้นที่ไปตามหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ตรวจสุขภาพประจำปีให้ จากการเก็บข้อมูลพบว่าในช่วงหลังแนวโน้มสุขภาพของคนในตำบลดีขึ้นเรื่อยๆ” สำหรับงานเกษตรกรรมยั่งยืนอันเป็นหัวใจหลักของชุมชนแห่งนี้ก็มีสถานที่ศึกษาดูงานได้หลายแห่ง อย่างที่บ้านของ แม่นวลศรี สิงทองแท้ เกษตรกรต้นแบบที่ปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบผสมผสานปลอดสารพิษ มีการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชเมืองหนาว และผักพื้นบ้านรวมอยู่ในแปลงเดียว โดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่เล็กๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด “แรกๆ ยังรู้สึกลังเลต่อการเปลี่ยน แต่พอมีเจ้าหน้าที่มาให้แนะนำและให้ความรู้ก็ลองปรับเปลี่ยนมาทดลองทำปุ๋ยหมักเอง ควบคู่กับการปลูกพืชแบบผสมผสาน ลดละเลิกการใช้สารเคมี จากที่แต่ก่อนมีปัญหาเรื่องสุขภาพเจ็บป่วยบ่อย ปวดกระดูกและปวดเมื่อย เนื่องมาจากการใช้สารเคมี ระยะหลังก็รู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สารอาหารก็ยังคงได้รับอย่างครบถ้วน คนในชุมชนได้กินของดีมีคุณภาพ และปลอดภัยจากสารเคมีอีกด้วย” แม่นวลศรีระบุ “โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการขยายเครือข่ายการทำงานเพื่อพัฒนาไปสู่ชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ จำนวน 20 แห่ง โดยใช้องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทาเป็นฐานการเรียนรู้ และจะมีการขยายผลสร้างการเรียนรู้เฉพาะประเด็นให้แก่แกนนำในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขยายผลอีก 40 แห่ง รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานโยบายสาธารณะในระดับเครือข่ายและท้องถิ่นที่เสริมหนุนการดำเนินงานภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า” นายก อบต.แม่ทากล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ