สภาหอการค้าฯ-สภาอุตฯ-สถาบันอาหาร จับมือชูความเป็นเอกภาพ 3 องค์กรเศรษฐกิจ หนุนข้อมูลภาคธุรกิจเกษตร-อาหาร แถลงข่าวทุก 2 เดือน

ข่าวทั่วไป Thursday June 28, 2007 16:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--สภาหอการค้า
สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ และสถาบันอาหาร ผนึกความร่วมมือด้านข้อมูล ข่าวสารครบถ้วน รอบด้าน ทั้งปัจจุบันและอนาคต กำหนดจัดแถลงข่าวทุก 2 เดือน หมุนเวียนระหว่าง 3 องค์กร หวังเอื้อประโยชน์สร้างความได้เปรียบทั้งในแง่การตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์ และการวางแผนงานที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เชื่อสามารถสร้างเสริมศักยภาพการแข่งขันของสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมอาหารไทย ก้าวเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคและในเวทีโลกได้ นำร่องแถลงข่าวร่วมหัวข้อ “สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต” ชี้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทย 4 เดือนแรกปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 คาดแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยไตรมาส 3 ขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เหตุจากการแข็งค่าของเงินบาท ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจภายในประเทศ
สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย : คณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ผนึกความร่วมมือกันในการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร และอาหารของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคและระดับโลก คณะทำงานร่วมทั้ง 3 องค์กรจึงได้มีแนวคิดร่วมกันในการดำเนินการเสนอข้อมูลข่าวสารในภาคธุรกิจเกษตรและอาหารต่อสาธารณชนให้อยู่ในกรอบทิศทางเดียวกัน เป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งเป็นสื่อกลางในการสะท้อนประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะของภาคธุรกิจการเกษตรและอาหารไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งเน้นการเสนอข้อมูลสถิติตัวเลขการส่งออกและแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกภาคธุรกิจเกษตรและอาหาร รวมทั้งประเด็นปัญหาและ ข้อเสนอแนะของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ จะมีการจัดงานแถลงข่าวหมุนเวียนระหว่าง 3 องค์กร โดยกำหนดจัดทุกๆ 2 เดือน ซึ่งในการจัดงานแต่ละครั้งนอกจากจะมีผู้แทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ร่วมแถลงข่าวแล้วยังมีผู้แทนจากกลุ่มสินค้าเกษตร 5 กลุ่มสินค้า เพื่อร่วมให้ข้อมูลโดยตรงด้วย เช่น กลุ่มสินค้าประมง กลุ่มสินค้าข้าว กลุ่มสินค้า ปศุสัตว์ กลุ่มผักผลไม้ และกลุ่มอื่นๆ
สำหรับการจัดงานแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร เรื่อง “สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต” ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการจัดงานร่วมกันครั้งแรก ได้มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย นายดำริ สุโขธนัง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานคณะกรรมการสถาบันอาหาร ดร.พจนี พะเนียงเวทย์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ร่วมแถลงฯ พร้อมด้วยตัวแทนจาก 5 กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ประกอบด้วย 1. กลุ่มสินค้าข้าว 2. กลุ่มสินค้าปศุสัตว์ 3. กลุ่มสินค้าประมง 4. กลุ่มสินค้าผักผลไม้ และ 5. กลุ่มสินค้าน้ำตาล เพื่อให้รายละเอียด และรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
นายดำริ สุโขธนัง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานคณะกรรมการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า การที่ 3 หน่วยงานที่มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร ได้ร่วมมือกันเพื่อที่จะเชื่อมโยงและสื่อสารข้อมูลไปสู่สาธารณชนให้เป็นไปในแนวทางเดียว จะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการได้มีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ สามารถปรับกระบวนทัศน์ในการรองรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งทำให้เสริมศักยภาพในการแข่งขันบนเวทีการค้าโลก สำหรับสถาบันอาหาร มีหน้าที่นำข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ จากคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแงประเทศไทย มาสังเคราะห์ วิเคราะห์ รวมทั้งรวบรวม ข้อมูลจากหน่วยงานอื่นมาประกอบ และร่วมกันนำเสนอต่อสาธารณชนต่อไป
ดร.พจนี พะเนียงเวทย์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในสภาวะปัจจุบัน ที่โลกก้าวเข้าสู่การแข่งขันทางการค้าอย่างเสรี สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันทัดเทียมกับนานาประเทศได้คือการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ในการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการให้พร้อมที่จะแข่งขันในเวทีโลก และเป็นกลไกในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดเสถียรภาพอย่างมั่นคง
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินการแถลงข่าวร่วม 3 องค์กรในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจสังคมของประเทศโดยรวม ถือเป็นเวทีสะท้อนประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะของภาคธุรกิจเกษตรและอาหารอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตเพื่อสื่อสารไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กรในครั้งนี้ ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่เป็นองค์กรในการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center เพื่อเผยแพร่ข้อมูลภาวะอุตสาหกรรมธุรกิจเกษตรและอาหารทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทย 4 เดือนแรกปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารมีปริมาณ 10 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.2 มูลค่าส่งออก 192,263 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 นับเป็นการขยายตัวที่ค่อนข้างสูง ทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่าส่งออก โดยสินค้าเกษตรและวัตถุดิบอาหารมีการส่งออกขยายตัว เพิ่มขึ้นมาก ส่วนสินค้าอาหารแปรรูปมีการส่งออกขยายตัวในอัตราชะลอตัว การนำเข้าสินค้าในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2550 มีมูลค่า 58,753 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10
คาดภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในไตรมาส 3 ของปี 2550 จะขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่พึ่งพาตลาดภายในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เน้นผลิตส่งออก เหตุจากการแข็งค่าของเงินบาท ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัว ในขณะที่แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารของไทย คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 153,000 ล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อัตราขยายตัวของมูลค่าส่งออกในไตรมาสนี้ลดลงต่ำที่สุด โดยมีปริมาณการส่งออก 6.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งลดลงจาก 7.6 ล้านตันในไตรมาสแรก และตัวเลขคาดการณ์ไตรมาส 2 ที่ประมาณ 7.1 ล้านตัน ทั้งนี้การที่ปริมาณส่งออกขยายตัวสูงกว่า มูลค่าเนื่องจากตลอดปีที่ผ่านมา สินค้าอาหารจำพวกวัตถุดิบและสินค้าเกษตรขั้นต้นมีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ทำให้มีแนวโน้มส่งออกได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับสินค้ากลุ่มดังกล่าวมีความต้องการจากตลาดโลกค่อนข้างสูง ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้มีมูลค่าเพิ่มน้อย ราคาต่อหน่วยจึงต่ำกว่าสินค้าอาหารแปรรูป ส่งผลให้มูลค่าส่งออกสินค้าอาหารในภาพรวมขยายตัวต่ำกว่าปริมาณส่งออก อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าการส่งออกน่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลส่งออกสินค้าอาหารที่มักเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
แผนกการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันอาหาร
คุณณัชชา บุญแสง
โทรศัพท์ 0 2886 8088 ต่อ 319
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ