ปภ.แนะวิธีปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย...จากอุบัติเหตุในการทำงาน

ข่าวทั่วไป Friday April 29, 2011 11:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--ปภ. บ่อยครั้งมักได้ยินข่าวอุบัติเหตุจากการทำงาน ซึ่งมากกว่าร้อยละ 85 เกิดจากผู้ปฏิบัติงานประมาทและรู้เท่าไม่ถึงการณ์และร้อยละ 15 เกิดจากสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่ปลอดภัย เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีสร้างความปลอดภัยในการทำงาน ดังนี้ ผู้ปฏิบัติงาน ทำงานกับเครื่องจักร ศึกษาวิธีใช้เครื่องจักรอย่างละเอียดจากคู่มือการใช้งานและผู้ที่มีความชำนาญ เลือกใช้เครื่องมือให้ถูกวิธี ถูกขนาดและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้งาน แต่งกายให้เหมาะสมกับประเภทของงาน สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายทุกครั้งที่ปฏิบัติงาน ห้ามใช้อุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่อยู่ในสภาพชำรุด เพิ่มความระมัดระวังในการใช้เครื่องจักรที่มีส่วนประกอบของเฟือง ใบมีด และสายพานเป็นพิเศษ ห้ามทำความสะอาดเครื่องจักรในขณะเดินเครื่อง กรณีเครื่องจักรชำรุด ให้ปิดสวิทช์ไฟเพื่อหยุดการทำงาน และแจ้งช่างผู้ชำนาญมาตรวจสอบแก้ไข โดยในระหว่างซ่อมแซมเครื่องจักรให้นำป้าย“เครื่องจักรชำรุด/บกพร่อง”มาติดไว้ที่เครื่อง เพื่อป้องกันผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์เปิดเครื่อง ทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ทำงานก่อสร้าง ตรวจสอบอุปกรณ์ก่อสร้างให้อยู่ในสภาพปลอดภัย เลือกใช้ให้ถูกต้องกับประเภทของงาน สวมใส่อุปกรณ์นิรภัยทุกครั้งที่ปฏิบัติงาน ห้ามจุดไฟ สูบบุหรี่ หรือประกอบอาหารในบริเวณงานก่อสร้างและพื้นที่จัดเก็บวัสดุตกแต่งอาคาร เพราะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีที่ทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะปฏิบัติงาน เพราะจะทำให้เสียการทรงตัวและพลัดตกจากที่สูง ในการผสมวัสดุก่อสร้างและการก่อสร้างนั่งร้าน ให้ปฏิบัติตามหลักวิศวกรรมอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการคำนวณขนาดและน้ำหนักที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้อาคารถล่มในระหว่างการก่อสร้าง ทำงานกับสารเคมี ปฏิบัติตามระเบียบที่สถานประกอบการกำหนดอย่างเคร่งครัด สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายทุกครั้งที่ปฏิบัติงาน เช่น ผ้าปิดจมูก รองเท้าบู๊ท ถุงมือ หน้ากากกันสารเคมี เป็นต้น พร้อมหมั่นตรวจสอบจุดเสี่ยงต่อการเกิดสารเคมีรั่วไหล เช่น ข้อต่อ วาล์วท่อส่งก๊าซ เป็นต้น จัดเก็บสารเคมีที่เป็นอันตรายไว้ในที่ปลอดภัย ห่างจากวัสดุที่ติดไฟง่าย เพื่อป้องกันการระเบิดและเพลิงไหม้ ห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มไว้ในบริเวณที่มีสารเคมี เพราะอาจมีสารเคมีปนเปื้อนลงไป กรณีสารเคมีรั่วไหล ให้ใช้ผ้าปิดจมูก ออกให้ห่างจากบริเวณดังกล่าวไปอยู่ทางด้านเหนือลมหรือที่สูงพร้อมเปิดช่องระบายอากาศ เพื่อให้อากาศถ่ายเทสู่ภายนอก หากสารเคมีหกรดผิวหนังให้รีบล้างออก โดยปล่อยน้ำสะอาดไหลผ่านประมาณ 15 นาที ทำงานในสำนักงาน จัดเก็บวัสดุอุปกรณ์และเครื่องใช้สำนักงานให้เรียบร้อย ไม่วางบนที่สูงหรือกีดขวางทางเดิน จัดให้มีฝาครอบปิดสายไฟ สายอินเตอร์เน็ท เพื่อป้องการสะดุดล้ม จัดวางเครื่องถ่ายเอกสารไว้ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก พร้อมหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพปลอดภัย เก็บแยกเอกสารออกจากพื้นที่เสี่ยงเพลิงไหม้ เช่น ปลั๊กไฟ หม้อไฟ เป็นต้น ผู้ประกอบการ จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ปลอดภัย กำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยและควบคุมให้ผู้ปฏิบัติงานปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด จัดฝึกอบรมเกี่ยวกับการป้องกันอันตรายในการทำงาน และซักซ้อมแผนอพยพหนีภัยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัยตามจุดเสี่ยงอันตราย และจัดเตรียมเครื่องป้องกันอันตรายให้กับผู้ที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยง ตลอดจนจัดหาช่างที่ชำนาญการมาตรวจสอบสภาพเครื่องจักรอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ผู้ปฏิบัติงานควรเรียนรู้วิธีการทำงานอย่างถูกต้องปลอดภัย และปฏิบัติตามข้อบังคับที่กำหนดอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรจัดให้มีมาตรการความปลอดภัยในการทำงาน และควบคุมการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในการทำงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ