ประธาน กกอ.ชี้ “แจก Tablet” ไม่ช่วยแก้ปัญหาการศึกษา แนะต้องสร้าง “เครือข่ายครูเพื่อศิษย์” ปฏิรูปการสอน

ข่าวทั่วไป Friday August 19, 2011 17:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กรรมการมูลนิธิสดศรี — สฤษดิ์วงศ์ และรองประธานมูลนิธิสยามกัมมาจล แสดงปาฐกถาพิเศษภายในเวที “21 st Century Skills กับการปฏิรูปการศึกษาด้วยพลังการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์” ว่า การปฏิรูปการศึกษาไทยในทศวรรษใหม่จำเป็นต้องเริ่มต้นที่ผลการเรียนรู้ของลูกศิษย์ หรือ Learning Outcomes เป็นสำคัญโดยมีลูกศิษย์เป็นตัวตั้ง ไม่ได้อยู่ที่ครู ผู้บริหารโรงเรียน งบประมาณ กระทรวง หรือแม้กระทั่งการซื้อ Tablet แจกให้แก่นักเรียนตามที่มีพรรคการเมืองนำมาใช้เป็นนโยบายหาเสียงโดยอ้างว่าจะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีขึ้น ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ยังจำเป็นต้องอาศัยครูและผู้บริหารโรงเรียนที่มีสำนึกของความเป็นครูเพื่อศิษย์รวมตัวกันเป็นเครือข่ายออกแบบการเรียนการสอนที่มุ่งหมายให้ลูกศิษย์ของตนมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น และเนื่องจากสาระการสอนมีมาก ขณะที่เวลาสอนมีจำกัด ครูจึงต้องเลือกสอนเฉพาะ “แก่นความรู้” และ “ทักษะที่จำเป็น” อาทิ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ทักษะการใช้เทคโนโลยี ทักษะการสื่อสาร รวมถึงทักษะที่จะเอื้อให้ลูกศิษย์ของตนเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองตลอดชีวิต ขณะเดียวกันยังต้องเปลี่ยนวิธีการประเมินวัดผลแบบใหม่ ไม่เน้นวัดผลแบบสอบได้หรือสอบตก แต่เน้นวัฒนธรรมของการสอบเพื่อรู้ผลความก้าวหน้า ให้เห็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นในตัวลูกศิษย์ว่าได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นอย่างไร ปลายทางเพื่อให้พวกเขาได้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นเพียงพอแก่การใช้ชีวิตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในศตวรรษที่ 21 อย่างมีความสุข “โลกเปลี่ยนเร็วและไม่แน่นอน หากเราไม่รู้จักเลือก เราจะไม่สามารถมีสมาธิกับเรื่องสำคัญได้ ครูจึงต้องหาแก่นความรู้ให้ได้ เพื่อให้เด็กสามารถเลือกได้ว่าอะไรคือเรื่องสำคัญของชีวิต เกิดการเรียนรู้ที่มีพลัง ซึ่งในโลกยุคใหม่ การศึกษาที่ว่าครูต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดแรงบันดาลใจอยากเรียนรู้ ครูให้ลูกศิษย์เรียนรู้ผ่านการทำโครงงาน (Project based Learning) โดยครูคอยทำหน้าที่เป็นโค้ช ให้คำแนะนำ สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และจัดให้มีวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเป็นระยะ วิธีนี้จะทำให้พวกเขาได้ความรู้และทักษะที่จำเป็นด้วยตัวเอง รู้จักการทำงานเป็นทีม มีวิธีคิดจิตใจที่ดี ครูสอนน้อยลงขณะที่ลูกศิษย์รวมถึงตัวของครูเองจะได้เรียนรู้ร่วมกัน มีความสุข และสนุกกับการเรียนการสอนเพิ่มมากขึ้น” ศ.นพ.วิจารณ์ย้ำ ทั้งนี้ เวที “21 st Century Skills กับการปฏิรูปการศึกษาด้วยพลังการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์” เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการสร้างชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์” โดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสดศรี — สฤษดิ์วงศ์ และมูลนิธิสยามกัมมาจล มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการสรรหาครูที่มีประสบการณ์ วิธีการ ตลอดจนผลลัพธ์ที่น่าสนใจของการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานเพื่อพัฒนาตัวผู้เรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเชื่อมร้อยเป็นเครือข่ายร่วมกันทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ ซึ่งครูไทยท่านอื่นๆ ที่สนใจสามารถนำไปขยายผลต่อยอดและปรับใช้ในบริบทของตนเองได้ตามความเหมาะสมต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ