มรนม. เปิดค่ายสังคมพหุวัฒนธรรม เรียนรู้แตกต่าง อย่างไม่แตกแยก

ข่าวทั่วไป Wednesday October 19, 2011 11:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จัดโครงการค่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สังคมพหุวัฒนธรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างขึ้น ในระหว่างวันที่ 16 — 20 ตุลาคม 2554 โดยจัดให้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 ณ ห้องประชุมสุวัจน์ ลิปตพัลลภ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยมี ดร.สุวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเป็นผู้แทนผู้ว่าฯ และเป็นประธานเปิดงานครั้งนี้ ดร.สุนทร ศิริอังกูร รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติร่วมให้การต้อนรับผู้เข้าอบรม ประกอบด้วยพันเอกประวิท หูแก้ว รองเสนาธิการ กองทัพภาคที่ 2 ร้อยตรีกาญจน์ ลอยมา อุปนายกพุทธสมาคม พันตำรวจเอกณรงค์ฤทธิ์ ด่านสุวรรณ์ ผู้แทนผู้บังคับการ ตำรวจภูธรภาค 3 จังหวัดนครราชสีมา คุณกรกมล เพชรล้อมทอง วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา สำหรับโครงการค่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม เป็นโครงการซึ่งนำนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษามาร่วมศึกษาเรียนรู้ และทัศนศึกษาสังคมที่อยู่ร่วมกันแบบพหุลักษณ์และพหุวัฒนธรรมอย่างมีความสุข มีความเข้าใจและยอมรับในความแตกต่าง จัดการกับความขัดแย้งโดยสันติวิธี ทั้งยังเป็นการสร้างบรรยากาศความสามัคคี สานสายใย ความผูกพัน เป็นพลังผลักดันให้นักศึกษามีทัศนคติที่ดี เห็นคุณค่าในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม และสร้างความสัมพันธ์อันดีที่จะนำไปสู่การสร้างสันติสุข โดยนักศึกษาที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชน แม้จะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสังคมแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข กิจกรรมประกอบด้วย การเยี่ยมชมและศึกษาสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ชุมชนมุสลิม ณ มัสยิส อัรฺ ริฎวาน (นานา) ชุมชนในเขตกำแพงเมืองนครราชสีมา หอประวัติเมืองนครราชสีมา สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือฯ ซาฟารีอีสานที่ “สวนสัตว์นครราชสีมา” สวิสเซอร์แลนด์เมืองไทยที่ “อำเภอวังน้ำเขียว” ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านการเกษตร อำเภอวังน้ำเขียว วิถีชีวิตหมู่บ้านหัตถกรรมพื้นบ้านด่านเกวียน อีกทั้งเยี่ยมชมและฟังการบรรยาย “วงจรชีวิตแมลงสู่การผลิตผ้าไหม” ซึ่งค่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม นับเป็นโครงการที่จะทำให้นักศึกษาได้มาอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างอันหลากหลายทางวัฒนธรรม และสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์อันดีที่จะนำไปสู่สังคมที่สันติ และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ