สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงยกฉัตรขึ้นประดิษฐานถวายพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร วัดไตรมิตรวิทยาราม

ข่าวทั่วไป Wednesday May 23, 2012 11:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ค.-- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานฉัตรเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ณ วัดไตรมิตรวิทยาราม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ เพื่อทรงยกฉัตรขึ้นประดิษฐานถวายพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร โดยมีคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อการบริหารจัดการพระมหามณฑปประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร คณะกรรมการบริหารกองทุน คณะกรรมการจัดงาน และพสกนิกรทุกหมู่เหล่าเฝ้ารับเสด็จ ร้อยตำรวจตรี เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อการบริหารจัดการพระมหามณฑปประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ และในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ นี้ วัดไตรมิตรวิทยารามได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานฉัตรเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร (หลวงพ่อทองคำ) พร้อมกับขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างเหรียญที่ระลึก เนื่องในโอกาสพิธียกฉัตรในครั้งนี้ด้วย สำหรับฉัตรพระราชทานองค์นี้ เป็นฉัตร ๕ ชั้น มีความสูงจากกำพูถึงยอดฉัตร ๓ เมตร ๓๑ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางระบายฉัตร ๒ เมตร ถือเป็นฉัตรเหนือพระพุทธปฏิมาที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสทวิมหามงคล และเพื่อความเป็นสิริมงคล เจริญรุ่งเรืองในหมู่ประชาชนชาวไทย ภายหลังสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงประกอบพิธียกฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้คณะกรรมการและผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินในการทำนุบำรุงพระมหามณฑปเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานของที่ระลึก ต่อจากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร และศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช ในชั้นที่ ๓ และชั้นที่ ๒ ต่อไป ประวัติความเป็นมาและความสำคัญของพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือที่ประชาชนชาวไทยรู้จักดี ในนาม “หลวงพ่อทองคำ” นั้น มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจคือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้มีการเชิญพระระพุทธรูปปูนปั้นองค์หนึ่งจาก วัดพระยาไกรมาประดิษฐานอยู่ ณ วัดไตรมิตรวิทยาราม จนกระทั่งอีก ๒๐ ปีต่อมา ในปีพ.ศ. ๒๔๙๘ เมื่อทางวัดเคลื่อนย้ายองค์พระจากศาลาหลังคาจากชั่วคราวขึ้นไปประดิษฐานในอาคารหลังเล็กข้างพระอุโบสถปูนที่หุ้มองค์ พระไว้กะเทาะหลุดออกจึงปรากฏว่า แท้จริงแล้วองค์พระพุทธรูปปูนปั้นเป็นศิลปะสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย หล่อด้วยทองคำเนื้อเจ็ดน้ำสองขา น้ำหนักประมาณ ๕.๕ ตัน ประชาชนชาวไทยและชาวจีนในขณะนั้นถือเป็นเหตุมหัศจรรย์ พ้องกับการเริ่มต้นรัชสมัยภายหลังพระราชพิธี บรมราชาภิเษกไม่นานนัก ในปีพ.ศ. ๒๔๙๙ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระราชศรัทธาเสด็จพระราชดำเนิน พร้อม ด้วย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อทรงนมัสการและทรง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ยอดพระเกตุมาลา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนามว่า “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึงรัฐบาลและ ประชาชนถือว่าเป็นพระพุทธรูปสำคัญของชาติคู่บ้านคู่เมืองอีกองค์หนึ่ง โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนถือเป็น นิมิตหมายพ้องกับการที่วัดไตรมิตรวิทยาราม ตั้งอยู่ที่หัวถนนเยาวราช ซึ่งเป็นแหล่งค้าทองคำที่ใหญ่ที่สุดใน ประเทศ และต่อมาหนังสือกินเนส บุค เวิร์ล ออฟ เรคคอร์ด ฉบับค.ศ. ๑๙๙๑ หน้า ๒๒ ยังได้บันทึกไว้ด้วยว่าเป็น พระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่ที่สุดในโลก โอกาสเดียวกันนี้ วัดได้ดำเนินการจัดสร้างระฆังจำนวน ๒ ใบ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนแรกเริ่มในการจัดสร้าง อีกทั้งยังทรงเจิมแผ่นทอง นาค เงิน เพื่อร่วมในพิธีเททองหล่อจัดสร้างระฆังนี้ด้วย ระฆังที่จัดสร้างขึ้นนี้เป็นระฆังตามแบบ ศิลปะสมัยอยุธยา ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นยุคสมัยที่สร้างระฆังได้สวยงามที่สุดยุคหนึ่ง ประดิษฐานไว้ที่บริเวณชั้นที่ ๔ ในศาลารายด้านหน้าของพระมหามณฑป และในโอกาสมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ รัฐบาลได้ร่วมกับวัดไตรมิตรวิทยาราม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตลอดจน ผู้มีจิตศรัทธาดำเนินโครงการจัดสร้างพระมหามณฑปประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรใหม่ให้สง่างาม แทนอาคารประดิษฐานเดิม โดยมีพลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ สาขาสถาปัตยกรรมไทย และอดีตอธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบพระมหามณฑป ด้วยการออกแบบที่คำนึงถึงพื้นที่ใช้สอยควบคู่กับพุทธสถาปัตยกรรมที่สวยงาม โดยแบ่งเป็น 4 ชั้น ได้แก่ ชั้น 1 เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ชั้นที่ 2 จัดนิทรรศการศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช ชั้นที่ 3 จัดนิทรรศการพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร และ ชั้นที่ 4 คือที่ประดิษฐานองค์พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างได้ดำเนินการแล้วเสร็จสวยงาม เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุหร่าย ทรงเจิม และทรงปิดทอง ยอดฉัตรของพระมหามณฑป ณ วังไกลกังวล หลังจากนั้นได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่ยอดพระมหามณฑปแห่ง นี้ และเมื่อการก่อสร้างพระมหามณฑปแล้วเสร็จ ซึ่งใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น ๒๒ เดือน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ไปทรงสวมพระเกตุมาลาพระพุทธมหา สุวรรณปฏิมากร ในพิธีสมโภชพระมหามณฑป เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๒

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ